การประเมินผล : ปัญหาของการวิจัยประเมินผลในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

การประเมินผล : ปัญหาของการวิจัยประเมินผลในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

นัทธี  จิตสว่าง

                    เมื่อกล่าวถึงการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด สิ่งหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดก็คือว่า ไม่มีโครงการใดหรือมีสถานบำบัดและฟื้นฟูใดที่จะกล่าวได้อย่างมั่นใจว่า ประสบความสำเร็จในการให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด แม้ว่าจะมีการทุ่มเทความพยายาม ทุ่มแรงกายและทุ่มงบประมาณไปปีหนึ่งๆ มากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถจะตอบได้ว่างานที่ทำไปนั้นประสบความสำเร็จแค่ไหนเพียงใด หรืออาจจะมีการกล่าวโจมตีว่าการบำบัดรักษาและฟื้นฟูในระบบจำคุกและระบบสมัครใจนั้นไม่ประสบความสำเร็จ  ต้องมีการนำระบบใหม่ๆ มาใช้ แต่ข้อโจมตีดังกล่าวก็ปราศจากข้อพิสูจน์ยืนยันที่แน่นอน เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากการที่ยังขาดการวิจัยประเมินผลเกี่ยวกับโครงการการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดอย่างจริงจังที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จในการปฏิบัติงานในโครงการต่างๆ และการที่ไม่มีการดำเนินการวิจัยและประเมินผลอย่างจริงจังนั้น ก็เนื่องมาจากปัญหาหลายประการด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการทำการวิจัยประเมินผลทางด้านการบำบัดรักษาและการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดซึ่งไม่ได้รับการพัฒนาและนำมาใช้อย่างจริงจัง ปัญหาที่จะกล่าวนี้เป็นปัญหาในระดับสากล ซึ่งเกิดขึ้นกับการวิจัยและประเมินผลในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดทั่วโลก

                   การวิจัยและประเมินผลจัดเป็นการวิจัยประยุกต์ที่มุ่งค้นหาข้อเท็จจริง เพื่อบ่งบอกถึงคุณค่าของงานที่ทำ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับการพิจารณาความสำเร็จหรือผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานนั้นเอง ดังนั้น ในประเทศตะวันตกได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยประเมินผลความสำเร็จของโครงการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้ทราบว่าทรัพยากรที่ใช้ไปในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูนั้นได้ผลเพียงไร อย่างไรก็ตามแม้จะมีการดำเนินการวิจัยประเมินผลเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก เช่น การวิจัยประเมินผลเกี่ยวกับโครงการการใช้เมทาโดน (Cushman, 1971และ Nash, 1976) การวิจัยประเมินผลเกี่ยวกับโครงการชุมชนบำบัด (Nash, 1976 และ Wexler et al., 1988) การวิจัยและประเมินผลเกี่ยวกับโครงการบำบัดรักษาของสถานพยาบาล (Sells et al., 1977) และการวิจัยประเมินผลเกี่ยวกับงานของการบำบัดรักษาโดยทั่วไป (Holloway et al., 2006) เป็นต้น แต่การดำเนินงานในการวิจัยประเมินผลส่วนใหญ่จะประสบกับปัญหาหลายประการ ทั้งนี้เพราะลักษณะสำคัญของการวิจัยประเมินผลก็คือการค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อบ่งถึงคุณค่าของงานหรือโครงการโดยมุ่งที่จะนำเอาผลที่ได้ไปใช้ในทางปฏิบัติ ดังนั้นการวิจัยประเมินผลจึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการตัดสินคุณค่าของงานหรือโครงการ จุดนี้เองที่ทำให้การวิจัยประเมินผลต้องประสบกับปัญหาสืบเนื่องกันมาโดยตลอด ปัญหาที่สำคัญที่เกิดขึ้นกับการวิจัยและประเมินผลโดยทั่วไปและเป็นปัญหาของการวิจัยประเมินผลในงานบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดด้วยนั้นอาจแยกพิจารณาได้ดังต่อไปนี้

ปัญหาเกี่ยวกับการวัดความสำเร็จของงาน

                   เนื่องจากส่วนหนึ่งของการวิจัยและประเมินผล ก็คือการพิจารณาถึงความสำเร็จของงานของหน่วยงานที่ดำเนินการนั้นว่าสามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ ด้วยเหตุนี้ปัญหาในเรื่องการวัดความสำเร็จของงานที่ตามมา จึงมีอยู่หลายประการด้วยกัน กล่าวคือ

                   ก. การวัดความสำเร็จของงานบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยทั่วไปมักจะกำหนดอาการที่ผู้รับการบำบัดรักษาไม่กลับไปเสพยาเสพติดอีกเป็นเกณฑ์ แต่การวัดความสำเร็จของงานบำบัดรักษาและฟื้นฟูเช่นว่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องมีการติดตามผู้ที่เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูหลังพ้นการบำบัดรักษาและฟื้นฟูไปแล้วว่าจะสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและไม่กลับไปเสพยาเสพติดอีกหรือไม่ การดำเนินการในการวิจัยและประเมินผลดังกล่าวอาจทำได้ 2 วิธี คือ การศึกษาแบบต่อเนื่องในระบบยาว เพื่อดูว่ากลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาจะสามารถเลิกเสพยาเสพติดได้หรือไม่ อีกกรณีหนึ่งอาจทำได้โดยการศึกษาสถิติการกลับไปเสพยาเสพติดของผู้เข้ารับการบำบัดรักษาจากสถานบำบัดรักษา สำหรับในกรณีหลังนี้นับว่าเป็นปัญหามากในประเทศไทย เพราะระบบประวัติบุคคลยังไม่แน่นอน ผู้ติดยาเสพติดจึงมักจะวนเวียนเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลและสถานบำบัดและฟื้นฟู โดยที่สถานบำบัดรักษาและฟื้นฟูต่างๆ ต้องประสบกับปัญหาในการตรวจสอบในหลายกรณี ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการเข้ารับการรักษาจะขึ้นอยู่กับตัวผู้เข้ารับการบำบัดรักษาที่จะเป็นผู้เปิดเผยหรือไม่เท่านั้น ดังนั้นการวัดความสำเร็จของการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดว่ามีผู้รับการบำบัดรักษากลับไปเสพยาเสพติดอีกเท่าใด จึงไม่อาจกระทำได้อย่างแน่ชัด

                    ผลที่ตามมาของการที่ไม่สามารถวัดความสำเร็จของงานการบำบัดรักษาได้จากสถิติการกลับไปเสพยาเสพติดอีก ทำให้หน่วยงานและผู้ปฏิบัติงานให้ความสนใจการปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวลดน้อยลงไป แต่กลับไปให้ความสนใจต่องานหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่สามารถประเมินผลงานได้ เช่น ประเมินว่าหน่วยงานทำกิจกรรมอะไรบ้าง ให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดกี่คน ใช้งบประมาณเท่าใด ควบคุมรักษาระเบียบวินัยและการฝึกอาชีพ หรือกิจกรรมอื่นใดที่จะสามารถทำให้ผู้บริหารสามารถแสดงผลงานได้อย่างเด่นชัด  เป็นการประเมินในระดับสิ่งที่ป้อนเข้า (Input)  กระบวนการ (Process) หรือผลลัพธ์ (Output) อันจะเป็นผลต่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้  ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่าในสถานบำบัดและฟื้นฟูที่ให้ความสนใจต่อการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดให้หายขาดไม่กลับไปเสพยาเสพติดอีก น้อยกว่างานด้านการควบคุม  มิให้หลบหนีหรืองานด้านการฝึกอาชีพผู้ติดยาเสพติด  เป็นสิ่งวัดได้เป็นรูปธรรม

                    ข.  ปัญหาอันเกิดจากปัจจัยในสังคม  ซึ่งเป็นปัจจัยแทรกซ้อนและไม่อาจควบคุมได้โดยเหตุที่การวิจัยประเมินผลการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดส่วนใหญ่จะถือเอาการไม่กลับไปเสพยาเสพติดอีกเป็นเกณฑ์ในการวัดความสำเร็จของโครงการบำบัดรักษา  ดังนั้นปัญหาจึงมักจะเกิดขึ้นเพราะการที่ผู้รับการบำบัดรักษาจะสามารถปรับตัวได้ในสังคมไม่กลับไปเสพยาเสพติดอีกหรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ  อย่างในสังคม  เช่น  สภาพแวดล้อมทางครอบครัว  ปัญหาทางเศรษฐกิจ  ปัญหาครอบครัว  สุขภาพกายและสุขภาพจิต  โอกาสในการทำงาน  สภาพแวดล้อมทางบ้าน  และการคบเพื่อน  ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเสพยาเสพติดซ้ำ  หรือกรณีของผู้ติดยาเสพติดที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากสถานบำบัด  หรือผู้ติดยาเสพติดที่ได้รับการรักษาหายขาดจากยาเสพติดจากโรงพยาบาล  แต่เมื่อกลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมเพื่อนฝูงเก่า ๆ  ก็อาจกลับไปเสพใหม่ได้เพราะไม่อาจทนต่อการยั่วยุได้  การจะพิจารณาวัดความสำเร็จของการบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดดังกล่าวโดยถือเกณฑ์การกลับไปเสพใหม่  จึงเกิดปัญหาได้เนื่องจากการที่กลับไปเสพยาเสพติดใหม่นั้น  อาจเกิดจากปัจจัยภายนอกในสังคมดังกล่าว  ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟู  ไม่สามารถควบคุมหรือเข้าไปแทรกแซงได้  ดังนั้นโครงการบำบัดรักษาส่วนใหญ่จึงยกข้อแก้ตัวนี้เป็นข้ออ้างในกรณีที่ผลการวิจัย  ปรากฏออกมาว่าโครงการไม่ประสบความสำเร็จในการบำบัดรักษา  คือไม่สามารถทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดหายขาดจากการเสพยาเสพติดได้ในกรณีนี้สถานบำบัดรักษาจะมีทางออกโดยอ้างว่างานบำบัดรักษาของสถานบำบัดรักษาสิ้นสุดลงเมื่อสามารถทำให้ผู้ติดยาเสพติดหยุดเสพยาเสพติดได้ในระหว่างที่เข้ารับการบำบัดรักษาเท่านั้นเมื่อพ้นจากสถานบำบัดรักษาไปแล้ว  เป็นเรื่องที่สถานบำบัดรักษาไม่สามารถเข้าแทรกแซงได้โดยน่าจะมีหน่วยงานอื่นรับช่วงต่อ  เช่นในเรื่องการหางานให้ผู้เข้ารับการบำบัดรักษา  การจัดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย  การแก้ปัญหาครอบครัว  เป็นต้น  โดยนัยนี้การวิจัย ประเมินผลจึงไม่อาจจะใช้เป็นเครื่องมือ  ในการพิจารณาความสำเร็จของงานบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดได้อย่างแท้จริง

 

ปัญหาเกี่ยวกับการยอมรับของผู้บริหาร

                    การวิจัยประเมินผลในหน่วยงานต่าง ๆ  โดยเฉพาะหน่วยงานของทางราชการเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ  “การเมือง” หรือการแจกแจงผลประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะหน่วยงานส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงให้คนภายนอกมาประเมินผลงานของตนว่าไม่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวเพราะย่อมหมายถึงความไร้ประสิทธิภาพของผู้บริหาร  อันจะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่รวมทั้งการถูกตัดงบประมาณอีกด้วย  ดั้งนั้นผู้บริหารจึงมักจะพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการวิจัยประเมินผล  หรือเข้าควบคุมการวิจัยประเมินผล  ไม่ให้ส่งผลกระทบในทางลบต่อหน่วยงานเท่าที่จะทำได้วิธีการดังกล่าวคือ

                    ก.  ทำการวิจัยประเมินผลของหน่วยงานเสียเองโดยให้ฝ่ายวิจัยของหน่วยงานดำเนินการวิจัยประเมินผลงานหรือโครงการของหน่วยงานตนเอง  ทำให้สามารถควบคุมผลของการวิจัยประเมินผลให้ปรากฏออกมาในลักษณะที่เป็นการสนับสนุนงานหรือโครงการของหน่วยงานนั้นหรือให้มีผลกระทบในทางลบให้น้อยที่สุด  เช่นในกรณีที่พบว่า  การวิจัยประเมินผลในเรื่องใดให้ผลกระทบในทางลบต่อหน่วยงานก็อาจยกเลิก  หรือไม่ให้เผยแพร่ผลงานวิจัยประเมินผลนั้นเสีย  วิธีการดังกล่าวนี้ยังใช้กับกรณีที่หน่วยงานจ้างนักวิจัยภายนอกเข้ามาทำโครงการวิจัยประเมินผลให้หน่วยงานหากปรากฏผลออกมาในเชิงบวกก็จะให้ผลการวิจัยเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบริหารงาน และขยายกิจกรรมต่อไป หากปรากฏผลในเชิงลบก็อาจจะใช้วิธีการเก็บงานวิจัยเอาไว้ หรือห้ามมิให้มีการการเผยแพร่ ตัวอย่างของเรื่องนี้เกิดที่รัฐนิวยอร์คโดยที่คณะกรรมการปฏิรูปงานราชทัณฑ์ของรัฐได้จ้าง Martinson และคณะเข้าทำการวิจัยประเมินผลงานวิจัยเกี่ยวกับโครงการการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดทั้งหมดรวมทั้งการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด แต่พอผลการวิจัยประเมินผลปรากฏออกมาขั้นแรกในเชิงลบและโต้แย้งโครงการต่างๆ ของรัฐเป็นอย่างมาก รายงานวิจัยเรื่องนี้กลับถูกสั่งห้ามเผยแพร่แม้แต่ในนามส่วนตัวของผู้วิจัยเอง (Martinson, 1974) อย่างไรก็ตามในที่สุดงานวิจัยของ Martinson ก็นำออกเผยแพร่ได้เมื่อพนักงานอัยการส่งหมายเรียกให้นำมาเปิดเผยในศาลและต่อมาผู้วิจัยจึงพิมพ์ผลงานออกเผยแพร่

                   ข. หากเป็นกรณีที่มีนักวิจัยประเมินผลจากภายนอกเข้ามาทำวิจัยประเมินผลในหน่วยงาน หน่วยงานก็มักจะไม่อนุญาตหรือไม่ให้ความร่วมมือในการวิจัยประเมินผลนั้นๆ เท่าที่ควร โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นจุดอ่อน การไม่ให้ความร่วมมืออาจทำได้ในเรื่องของการเก็บข้อมูลซึ่งมีผลให้การวิจัยไม่สามารถทำได้สะดวก โดยเฉพาะการจัดกลุ่มตัวอย่างและกลุ่มควบคุมแทบจะทำไม่ได้  กล่าวอีกนัยหนึ่งทำให้เกิดความบกพร่องในระเบียบวิธีการวิจัยไว้ และเมื่อผลการวิจัยออกมาในลักษณะที่ส่อให้เห็นว่าโครงการไม่ประสบความสำเร็จก็จะใช้เป็นข้ออ้างในการตีความว่าการวิจัยประเมินผลนั้นมีข้อบกพร่องทางระเบียบวิธีการวิจัย เช่น ใช้สถิติที่เก่าไปหรือมีความบกพร่องในการสุ่มตัวอย่าง เป็นต้น ในทางตรงกันข้ามหากผลการวิจัยประเมินผลออกมาในเชิงบวกหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานก็จะไม่กล่าวถึงความบกพร่องในระเบียบวิธีวิจัยนั้นเสียและยอมรับว่าผลการวิจัยว่าใช้ได้

                   ค. ในกรณีที่นักวิจัยภายนอกได้รับอนุญาตให้เข้าศึกษาแล้วรายงานผลการวิจัยออกมาในเชิงลบ หน่วยงานอาจใช้วิธีไม่สนใจต่อรายงานดังกล่าว โดยยังคงดำเนินงานของตนต่อไปแม้รายงานวิจัยจะกล่าวถึงความล้มเหลวของโครงการดังกล่าวก็ตาม นอกจากนี้ยังอาจใช้วิธีปิดตายไม่ให้มีนักวิจัยจากภายนอกได้รับอนุญาตเข้าไปทำวิจัยอีกเลย ดังเช่น กรณีของ Ward and Kassebaum (1966) ซึ่งเมื่อผลการวิจัยในทางลบเกี่ยวกับโครงการกลุ่มบำบัดออกมาในทางลบ กลับปรากฏว่ามีการขยายงานด้านนี้มากขึ้นกว่าเดิมอีก นอกจากนี้หน่วยงานยังไม่ยอมให้นักวิจัยจากภายนอกเข้าไปทำการวิจัยอีกต่อไป

 

ปัญหาเกี่ยวกับระเบียบวิธีการวิจัยประเมินผล

                   จากการศึกษาและราบรวมผลงานด้านการวิจัยประเมินผลในงานบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดของนักวิจัยหลายคน เช่น Nash (1976) Robinson and Smith (1971) Martinson (1974) และ Sarre (1999) ปรากฏว่างานวิจัยประเมินผลส่วนใหญ่ที่พบมีลักษณะคล้ายกันประการหนึ่ง กล่าวคือ มีระดับของความสมบูรณ์ถูกต้องของระเบียบวิธีการวิจัยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้เนื่องจากการวิจัยประเมินผลในงานบำบัดรักษาส่วนใหญ่ จะขาดการใช้กลุ่มควบคุมในการเปรียบเทียบ อาจกล่าวได้ว่ามีไม่ถึง 10% ของงานวิจัยประเมินผลในงานบำบัดรักษาที่ใช้การวิจัยแบบทดลอง และแม้จะมีการใช้กลุ่มควบคุมแต่ก็ไม่สามารถจัดการให้กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีความคล้ายคลึงกันแต่เริ่มแรกได้อย่างแท้จริง ดังเช่นกรณีการเปรียบเทียบอัตราการกลับไปเสพยาเสพติดอีกของผู้ติดยาเสพติดที่ใช้การคุมประพฤติ กับผู้ติดยาเสพติดที่พ้นโทษจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษซึ่งผลจะออกมาว่าผู้พ้นโทษจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษจะมีอัตราการกลับไปเสพยาเสพติดสูงกว่า ในกรณีเช่นนี้ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า การคุมประพฤติได้ผลดีกว่าการใช้ระบบจำคุก ทั้งนี้เพราะความแตกต่างของอัตราการกลับไปเสพใหม่ อาจจะมาจากการที่ผู้ถูกคุมประพฤติส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความโน้มเอียงในการติดยาเสพติดและมีปัญหาอื่นๆ ทางสังคมน้อยกว่าผู้พ้นโทษจากทัณฑสถาน ซึ่งมักจะเป็นผู้ที่ติดยาเสพติดมากมีความประพฤติเสียหาย กระทำความผิดทางอาญา หรือในอีกกรณีหนึ่ง เช่น การเปรียบเทียบผลสำเร็จของผู้ที่ได้รับการพักการลงโทษกับผู้พ้นโทษที่ได้รับการปลดปล่อยจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษ พื้นฐานของผู้ได้รับการพักการลงโทษกับผู้ที่ไม่ได้รับการพักโทษจะแตกต่างกัน โดยเฉพาะในแง่ที่ว่าผู้ได้รับการพักการลงโทษจะมีแนวโน้มในการกลับไปเสพยาเสพติดต่ำอยู่แล้ว คือมีการเลือกผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีและมีความพร้อมของครอบครัวและสภาพแวดล้อมดีกว่าอยู่แล้ว

                   นอกจากนี้หากจะพิจารณาการศึกษาเปรียบเทียบผู้รับบริการบำบัดฟื้นฟูในวิธีการบำบัดต่างๆ  เช่น เมทาโดน หรือทีซีของ Simpson et al., (1978) แล้ว จะพบว่าความแตกต่างเกี่ยวกับลักษณะประชากรของผู้รับบริการแต่ละระบบทำให้การบำบัดฟื้นฟูมีผลต่อผลสำเร็จของการบำบัดรักษาในแต่ละระบบ นอกจากความแตกต่างของลักษณะทางประชากรของผู้เข้ารับการบำบัดรักษาแล้ว ผลของความสำเร็จของโครงการยังอาจจะเป็นผลมาจากความแตกต่างในปรัชญาของระบบการรักษาแต่ละแบบซึ่งแตกต่างกันด้วย ดังนั้นการที่จะนำระบบการรักษาแต่ละประเภทมาเปรียบเทียบกันเพื่อที่จะดูว่า ระบบการรักษาระบบใดให้ผลสำเร็จในการบำบัดรักษาได้ดีกว่ากันนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะนำมาเปรียบเทียบกันได้อย่างจริงจังว่าระบบใดมีประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาดีกว่ากัน

                   จากปัญหาดังกล่าวนี้ ภายหลังจากที่ Greenberg and Adler (1974) ได้ศึกษาการวิจัยประเมินผลในงานบำบัดรักษาที่ผ่านมาได้สรุปว่า “ยังไม่มีการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของงานราชทัณฑ์แม้แต่เรื่องเดียวที่มีระเบียบวิธีการวิจัยสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของระเบียบวิธีการวิจัย” และปัญหาของระเบียบวิธีการวิจัยประเมินผลที่ยังมีข้อบกพร่องอยู่นี้เองที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันว่า การอบรมแก้ไขหรือการบำบัดรักษาประสบความล้มเหลวตามที่ได้มีการวิจัยประเมินผลไว้ หรือการวิจัยประเมินผลเองที่ล้มเหลวกันแน่ แท้ที่จริงแล้วโครงการที่การวิจัยประเมินผลระบบว่าล้มเหลวนั้น ความล้มเหลวของโครงการดังกล่าวอาจจะมาจากการที่ผู้วิจัยไม่สามารถจะขจัดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการบำบัดรักษาก็ได้

ส่งท้าย

                   งานด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดเป็นงานที่ประสบกับปัญหาการวัดความสำเร็จของงาน ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาในการวิจัยประเมินผลที่ใช้วัดการปฏิบัติตามเป้าหมายในการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ซึ่งได้แก่การทำให้ติดยาเสพติดหายขาดไม่กลับไปเสพยาเสพติดอีก ผลที่ตามมาก็คือผู้ปฏิบัติงานจะหันไปเน้นการประเมินผลในงานหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่สามารถประเมินผลได้ และส่งผลต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ทำให้สถานบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดละเลยต่อปัญหาการที่ผู้ติดยาเสพติดจะกลับไปเสพยาเสพติดอีก และพยายามปิดกั้นขอบเขตของงานของตนแค่ขอบรั้วของสถานบำบัดรักษาแห่งนั้นๆ เท่านั้น นอกจากนี้งานด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดยังขาดความสนใจในการที่จะประเมินผลจากผู้บริการซึ่งมักจะหลีกเลี่ยงการประเมินผลงานจากภายนอก อย่างไรก็ตามปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากการที่เรายังขาดเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการประเมินผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การขาดการวิจัยประเมินผลที่มีระเบียบวิธีวิจัยที่เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือโดยทั่วไปนั้นเอง

                   ดังนั้น หากเราหวังที่จะเป็นการดำเนินการด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดมีการดำเนินการอย่างจริงจังและสามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่างานที่ทำไปนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่เพียงใด ก็จำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาในการวิจัยประเมินผลดังกล่าวข้างต้น ทั้งด้านของระบบข้อมูล ระบบในการประเมินผลหน่วยงานและระเบียบวิธีวิจัยประเมินผลเสียก่อน เพราะหากเราสามารถประเมินผลงานด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดว่าประสบความสำเร็จได้แค่ไหนเพียงไรแล้ว เราก็จะเห็นการทุ่มเทและการเดินถูกทิศทางในการให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดมากกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้อย่างแน่นอน

————————–

 หมายเหตุ: ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

อ้างอิง

Greenberg, S. and Adler, F. (1974) ‘Crime and addiction: an empirical analysis of the literature, 1920 – 1973’, Contemporary Drug Problems, 3: 269.

Holloway, K. R., Bennette, T.H. and Farrington, D.P. (2006) ‘The effectiveness of drug treatment programs in reducing criminal behavior: a meta – analysis’, Psicothema. Vol. 18: 620 – 629.

Martinson, R. (1974) ‘What Works? Questions and answers about prison reform’, the Public Interest, 35: 22 – 54.

Nash, G. (1976) ‘An analysis of twelve studies of the impact of drug abuse treatment upon criminality’. In Drug Use and Crime: Report of the Panel on Drug Use and Criminal Behaviors (Appendix), Research Triangle Park, N.C. Research Triangle Institute, pp. 231 – 271.

Robinson, J. and G. Smith (1971) ‘The effectiveness of correctional programs’, Crime and Delinquency, 17: 67 – 80.

Sarre, R. (1999) Beyond ‘What Works?’ A 25 Year Jubilee Retrospective of Robert Martinson, Paper presented at the History of Crime, Policing and Punishment Conference, Canberra 9-10 Dec. 1999.

Sell, S.B., Demaree R.G., Simpson D.D., Joe G. W. and Gorsush R. L. (1977) ‘Issues in the evaluation of drug abuse treatment’, Professional Psychology. 8: 609 – 646.

Sells S.B. (1979) ‘Treatment Effectiveness’. In R.L. Dupont, A. Goldstein and J, O’ Donnell (eds) Handbook on Drug Abuse. Washington D.C: U.S. Government Printing Office. p. 106.

Ward, D. and Kassebaum, G. (1966) Women’s Prison: Sex and Social Structure. London: Weidenfeld and Nicolson.

Wexler, H.K., Falkin, G.P. and Lipton, D.S. (1988) ‘A model prison rehabilitation program: an evaluation of the Stay N’ Out therapeutic community’. A Final Report to the National Institution on Drug Abuse, Washington D.C.

….. อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/502266

แหล่งรวบรวมความรู้ด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม