มายาคติเกี่ยวกับการอบรมแก้ไขและคืนสู่สังคมของผู้ต้องขังกับการกระทำผิดซ้ำ

มายาคติเกี่ยวกับการอบรมแก้ไขและคืนสู่สังคมของผู้ต้องขังกับการกระทำผิดซ้ำ

นายนัทธี จิตสว่าง

ทำไมความพยายามในการอบรมแก้ไข (Rehabilitation) และส่งผู้ต้องขังคืนสู่สังคม (Reintegration) จึงไม่มีผลต่อการลดสถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังลง?

คำถามนี้เกิดขึ้นมาเนื่องจากตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาแม้มีความพยายามในการอบรมแก้ไขและส่งผู้ต้องขังคืนสู่สังคมด้วยโปรแกรมต่างๆ มากมาย การฝึกอาชีพ การนำโรงงานเข้ามาฝึกอบรมผู้ต้องขังในเรือนจำ การส่งผู้ต้องขังออกไปทำงานโรงงานภายนอกเรือนจำ การฝึกอาชีพอิสระ SMEเปลี่ยนชีวิต SMEเชิงลึก การจัดตั้งศูนย์Care การประสานกับภาคเอกชนหลายแห่งเพื่อรับผู้ต้องขังออกไปทำงาน การจัดอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ตลอดจนการให้ทุนประกอบอาชีพ และกิจกรรมอีกมากมาย แต่สถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวไปในรอบ 3 ปี ไม่ได้ลดลงหรือเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวในปี 2558 ที่กลับมากระทำผิดซ้ำใหม่ในรอบ 1 ปี ร้อยละ 14.62 รอบ 2 ปี ร้อยละ25.75 และรอบ 3 ปี ร้อยละ34.95 ซึ่งไม่แตกต่างจากสถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวในปี 2559 และ พ.ศ. 2560 ปรากฏตามตารางที่ 1

 

สถิติผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวกลับมากระทำผิดซ้ำ

  กลับมากระทำผิดซ้ำ ใน 1ปี กลับมากระทำผิดซ้ำใน 2 ปี กลับมากระทำผิดซ้ำใน 3 ปี
 

พ.ศ. 2558

 

14.62

 

25.79

 

34.95

 

พ.ศ.2559

 

14.51

 

26.16

 

35.14

 

พ.ศ.2560

 

14.89

 

26.42

 
 

พ.ศ.2561

 

15.40

   

ที่มา กองแผนงาน กรมราชทัณฑ์

 

 

แต่ที่กล่าวมานี้มิได้หมายความว่า การอบรมแก้ไขและการส่งต่อผู้ต้องขังกลับสู่สังคมของกรมราชทัณฑ์ประสบความล้มเหลว ตรงกันข้ามกลับประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง การดำเนินการต่างๆ ที่ทำได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้ต้องขังในทางที่ดีขึ้น จนเรียกได้ว่าเรือนจำเป็น “บ้านเปลี่ยนชีวิต” แห่งหนึ่ง ผู้ต้องขังจำนวนมากได้มาเพิ่มวุฒิการศึกษาบางคนไม่รู้หนังสือได้มารู้หนังสือ บางคนได้เรียนหนังสือจนจบปริญญา ผู้ต้องขังที่ไม่เคยมีทักษะอาชีพมาก่อนได้มาฝึกอาชีพต่างๆ จนสามารถออกไปประกอบอาชีพมีรายได้มั่นคงไม่ว่าจะเป็นอาชีพนวดฝ่าเท้า ขายอาหาร ขายกาแฟ ตลอดจนถึงการได้เข้าไปทำงานในโรงงานต่างๆ ต่อเนื่องจากการฝึกงานในเรือนจำ ผู้ต้องขังที่ไม่เคยได้รับการฝึกทักษะชีวิตก็ได้มีโอกาสเข้ามาฝึกทักษะการใช้ชีวิตในมิติต่างๆ การฝึกปฏิบัติธรรม    การฝึกสมาธิ การบริหารการเงิน การเข้าสังคม การผ่านโปรแกรมต่างๆ หลากหลายจนทำให้ชีวิตของผู้ต้องขังเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้นทำให้โอกาสในการกระทำผิดซ้ำลดลง

คำถามก็คือว่า แล้วทำไมสถิติการกระทำผิดซ้ำของกรมราชทัณฑ์ในรอบ 3 ปี จึงไม่ลดลง

คำถามนี้นำไปสู่คำถามที่ตามมาอีก 2 ข้อ

ข้อที่หนึ่ง  เราทุ่มทรัพยากรและอบรมแก้ไขกับผู้ต้องขังกลุ่มไหน? เราทุ่มเททรัพยากรในการจัดการและอบรมแก้ไขให้กับผู้ต้องขังถูกกลุ่มหรือไม่? ถ้าแบ่งผู้ต้องขังออกตามทฤษฎีบัวสามเหล่า ผู้ต้องขังจะแบ่งออกเป็น “พวกบัวพ้นน้ำ” ทำผิดโดยพลั้งพลาด มีอาชีพ มีครอบครัว มีความพร้อมมากลับสู่สังคมได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องไปทำอะไรมากอย่างไรก็ไม่กระทำผิดซ้ำ หรือมีความเสี่ยงต่ำมาก “พวกบัวในน้ำ” พวกนี้ถลำลึกลงมาอีก ความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำมีมากขึ้นแต่ก็ยังพอที่จะแก้ไขได้ และสุดท้าย “พวกบัวในโคลนตรม” พวกนี้แก้ไขยาก เพราะถูกทำลายถูกหล่อหลอมมาจากสภาพแวดล้อมและสังคมที่แหลกเหลวมานาน แล้วจะมาใช้เวลาในเรือนจำปีสองปีแก้ไขเป็นเรื่องยาก และผู้ต้องขังกลุ่มนี้จะเป็นพวกที่กระทำผิดซ้ำซากวนเวียนเข้าเรือนจำเป็นประจำและจะเป็นผู้ต้องขังกลุ่มใหญ่ที่ทำให้เกิดสถิติการกระทำผิดซ้ำของกรมราชทัณฑ์ แต่ผู้ต้องขังกลุ่มนี้กลับไม่ได้รับการอบรมแก้ไขอย่างจริงจัง แต่ไปเน้นการให้การอบรมแก้ไขและส่งคืนสู่สังคมให้กับผู้ต้องขังในกลุ่มที่หนึ่งและกลุ่มที่สอง ทั้งนี้เพราะผู้ต้องขังในกลุ่มพวกบัวในโคลนตรมจะขาด “คุณสมบัติ” ในการที่จะเข้ารับประโยชน์จากโปรแกรมการอบรมแก้ไข เช่น จะพักการลงโทษก็ไม่เข้าเกณฑ์ ไม่มีญาติรับรอง จะคัดออกไปทำงานในโรงงานภายนอกก็ขาดทักษะและกลัวความประพฤติจะทำให้โครงการเสียหาย                   จะขอทุนประกอบอาชีพก็ไม่เข้าเกณฑ์ ในคณะที่ตัวผู้ต้องขังเองก็ไม่ตั้งใจและไม่ประสงค์จะเข้ารับการอบรมหรือพัฒนาตนเองแต่ประการใด การเข้าอบรมของพวกนี้ก็เพื่อให้เข้าเกณฑ์ได้สิทธิในการเลื่อนชั้น ผู้ต้องขังกลุ่มนี้จึงพ้นโทษออกไปอยู่ในสังคมแวดล้อมเดิมและกลับมากระทำผิดซ้ำจนทำให้สถิติกระทำผิดซ้ำของกรมราชทัณฑ์ส่วนใหญ่ก็คือผู้ต้องขังกลุ่มนี้ และเป็นเหตุให้อัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่ปล่อยออกไปในรอบ 1 ปี 2 ปี และ 3ปี ไม่ลดลง

 

รูปที่ 1

ทฤษฎีบัว 3 กลุ่ม

Screen Shot 2562-08-19 at 12.02.12

 

 

ข้อที่สอง ถ้าจะทุ่มเทในการจัดการกับผู้ต้องขังกลุ่มบัวในโคลนตรมกลุ่มนี้อย่างจริงจัง เพื่อมีให้กระทำผิดซ้ำและลดอัตราการกระทำผิดซ้ำลงนั้นควรทำอย่างไร?

แนวทางปฏิบัติที่มีการดำเนินการอยู่ในต่างประเทศมีสองกรณี กรณีแรกเป็นการจัดโปรแกรมในการอบรมแก้ไขผู้ต้องขังกลุ่มนี้ระยะยาวและเข้มข้น โดยมุ่งสู่การลดการกระทำผิดซ้ำอย่างจริงจัง เช่นในสิงค์โปรมีโปรแกรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยสำหรับผู้ต้องขังกลุ่ม Hard core มีกำหนดระยะเวลา 10 เดือน มีการอบรมอย่างจริงจังและเข้มข้นมากซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงผู้ต้องขังและได้ผลระดับหนึ่ง หรือโปรแกรมชุมชนบำบัดสำหรับผู้ต้องขังคดียาเสพติดในสหรัฐจะมีระยะเวลา 2 ปี ซึ่งก็มีผลทำให้อัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังกลุ่มนี้ลดลง แต่ก็ไม่มากนัก ดังนั้นในสหรัฐจึงมีแนวทางในการลดอัตราการกระทำผิดซ้ำจากผู้ต้องขังกลุ่มนี้ โดยการกันคนเหล่านี้ออกจากสังคม และคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นระยะเวลานานแล้วให้ความชราภาพทำลายศักยภาพในการประกอบอาชญากรรมลง โดยใช้กฎหมาย THREE – STRIKE LAW ทำผิดซ้ำถึง 3 ครั้ง โดยถ้าทำผิดร้ายแรงในครั้งที่ 3 ต้องถูกคุมขังเป็นระยะเวลานานทั้งตลอดชีวิต แม้ความรุนแรงแห่งคดีครั้งก่อนๆ จะเล็กน้อย นอกจากนี้ในบางรัฐการกำหนดโทษจะพิจารณาทั้งความรุนแรงแห่งคดีพวกกับภูมิหลังของผู้กระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนั้นถ้าเดินตามแนวนี้ คดีลูกเมากาวทำร้ายพ่อแม่ที่นนทบุรี เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ก็คงไม่เกิดขึ้นเพราะผู้ต้องหาคนดังกล่าว ต้องโทษในเรือนจำมา 6 – 7 ครั้ง แต่ละครั้งโทษไม่เกิน 1 ปี จึงทำให้มีการวนเวียนติดคุกและพ้นโทษทุกปี ซึ่งหากปรับให้มีโทษระยะยาวก็จะกันไม่ให้ออกมากระทำผิดได้และทำให้สถิติการกระทำผิดซึ่งลดลงทันที

กล่าวโดยสรุป การอบรมแก้ไขและการส่งผู้ต้องขังคืนสู่สังคมที่ดำเนินการอยู่ประสบความสำเร็จด้วยดี ในการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังให้ดีขึ้น เพิ่มทางเลือกในชีวิตให้มากขึ้น แต่ไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสถิติการกระทำผิดซ้ำในภาพรวมของผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวไปในรอบ 1 – 3 ปี เพราะผู้ต้องขังที่ได้รับประโยชน์จากการอบรมแก้ไขและส่งคืนสู่สังคมคือ กลุ่มผู้ต้องขังที่มีแนวโน้มจะไม่กระทำผิดซ้ำอยู่แล้ว ในขณะที่กลุ่มผู้ต้องขังที่มีแนวโน้มกระทำผิดซ้ำ จะไม่ได้เข้าสู่ระบบของการอบรมแก้ไขและคืนสู่สังคม เนื่องจากคุณสมบัติไม่ผ่านและไม่สนใจเข้าอบรมและแม้จะผู้ต้องขังกลุ่มนี้หลุดเข้าไปในกระบวนการอบรมแก้ไขและส่งคืนสู่สังคม ก็ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมประการใด เนื่องจากการอบรมแก้ไขผู้ต้องขังกลุ่มนี้ต้องใช้ยาแรงและต้องทำอย่างเข้มข้นและจริงจังรวมถึงอาจต้องใช้มาตรการทางทัณฑวิทยาในการกันคนเหล่านี้ออกจากสังคมเป็นเวลานานและทำให้คนเหล่านี้หมดโอกาสในการทำความผิดซ้ำและออกมาทำความเดือดร้อนต่อสังคมอีกต่อไป

แหล่งรวบรวมความรู้ด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม