สถิตินักโทษในเรือนจำของไทยเริ่มลดลง

สถิตินักโทษในเรือนจำของไทยเริ่มลดลง

 

ความแออัดยัดเยียดของผู้ต้องขังในเรือนจำของไทยเป็นที่กล่าวขานมานาน ในสภาพที่เรียกว่า“นักโทษล้นคุก”โดยจำนวนผู้ต้องขังได้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 330,000 คน ในขณะที่เรือนจำมีพื้นที่มาตรฐานรองรับได้เพียง 200,000 คน อย่างไรก็ตามเป็นที่น่ายินดีที่ในรอบ สองปีที่ผ่านมาสถิติผู้ต้องขัง ในเรือนจำของไทยมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยนับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2558 ที่มีผู้ต้องขังอยู่ทั้งสิ้น 330,629 คน แต่หลังเดือนเมษายน 2558 ได้ลดลงมาอยู่ในระดับ 300,000 คน ภายใน 8 – 9 เดือนต่อมา ทั้งนี้เนื่องจากมีการพระราชทานอภัยโทษ จากนั้นจำนวนผู้ต้องขังก็เริ่มทยอยสูงขึ้นอีกจนถึงเดือนสิงหาคม 2559 ก่อนที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันในเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งมีจำนวนผู้ต้องขังเหลืออยู่เพียง 286,861 คน ทั้งนี้เนื่องจากมีการพระราชทานอภัยโทษ 2 ครั้ง ในปี พ.ศ.2559 ในเดือนสิงหาคมและเดือนธันวาคมทำให้ผู้ต้องขังที่ผ่านการอบรมแก้ไขเหลือโทษเล็กน้อยได้มีโอกาสกลับไปอยู่กับครอบครัวได้เร็วขึ้นและลดความแออัดและกดดันของผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำให้ลดลง

 การที่จำนวนผู้ต้องขังลดลงเช่นนี้ทำให้เรือนจำสามารถดำเนินกิจกรรมในการแก้ไขอบรมผู้ต้องขังได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแยกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังประเภทต่างๆ เพื่อให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยเฉพาะข้อกำหนดแมนเดลาและข้อกำหนดกรุงเทพฯ

 อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายกำลังเฝ้าติดตามว่าจำนวนผู้ต้องขัง ในเรือนจำจะลดลงอีกหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ต้องขังในคดียาเสพติด ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 65 ของผู้ต้องขังทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจากการที่กำลังจะมีการออกกฎหมายยาเสพติดใหม่ ซึ่งมีการปรับข้อสันนิษฐาน ของกฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองยาเสพติดซึ่งคาดว่าจะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสต่อสู้ในคดีมากขึ้น แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าไม่น่าจะมีผลต่อการลดจำนวนผู้ต้องขังเท่าใดนักเมื่อเทียบกับการนำพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมาบังคับใช้เมื่อปี 2545 ซึ่งในครั้งนั้นทำให้ผู้ต้องขังลดลงกว่า 100,000 ราย ในปี 2546

 การที่ประเทศไทยขาดมาตรการทางเลือกแทนการใช้โทษจำคุก และมาตรการลงโทษระยะกลาง จึงทำให้โทษจำคุกเป็นโทษหลักโดยไม่มีทางเลือกอื่น ทำให้จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นผลให้ต้องมีการใช้มาตรการเลียงโทษจำคุกโดยการลดโทษ เช่นการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษมาใช้มากขึ้น เพราะเมื่อไม่สามารถใช้มาตรการทางเลือกก่อนเข้าสู่เรือนจำ(Front end)ได้แล้วก็ต้องกลับไปใช้มาตรการทางเลือกหลังโทษจำคุก(Back end)ให้มากขึ้นนั่นเอง

 รายงาน : ศูนย์ข่าวอาชญาวิทยา

graph

แหล่งรวบรวมความรู้ด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม