อาชญากรรมหลังการระบาดของโควิด 19
นัทธี จิตสว่าง
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและที่อื่นๆ ทั่วโลกได้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศไทยในหลายมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่ผลกระทบที่ชัดเจนและรุนแรงที่สุดก็คือผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการการปิดเมือง ปิดประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ ต้องหยุดชะงักโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการส่งออก ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต้องปิดกิจการ ล้มละลาย ขณะที่โรงงานบริษัทห้างร้านต้องปิดตัว และมีคนตกงานมากมาย จากการประเมินของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าพิษโควิดและภัยแล้งจะทำให้มีอัตราการว่างงานปี2563 ถึง 8 ล้าน 4 แสนคน ส่งผลทำให้ขาดรายได้และมีหนี้สินเพิ่มพูนโดยเฉพาะคนในระดับล่างที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดทำงานรับจ้าง และหยุดการค้าขายรายย่อยที่เป็นการทำมาหากินโดยสิ้นเชิง ทำให้คนระดับล่างตกอยู่ในภาวะไม่มีจะกินและหนี้สินเพิ่มพูน สภาวะนี้แน่นอนว่าจะส่งผลต่อปัญหาอาชญากรรมที่จะตามมาดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปี 2540 ที่ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยมีจากคนสามกลุ่มที่จะก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ
อาชญากรหน้าใหม่จะเพิ่มขึ้น
ผลจากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำสภาวะ การจ้างงานถดถอย โรงงานปิดตัวมากมาย ทำให้คนตกงานติดต่อกันเป็นเวลานานนับเป็นล้านๆ คน การหันมาประกอบอาชีพค้าขายก็พบความยากลำบาก เพราะต้องแข่งขันกับผู้ค้าเดิม ซึ่งประสบปัญหากับคนไม่มีกำลังซื้อ คนไม่มีเงิน ทำให้มีปัญหาหนี้สินตามมาจึงเป็นผลให้คนจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เคยกระทำผิดมาก่อนหาทางไปออกไม่ได้ บางส่วนอาจหันไปสู่การฆ่าตัวตายในขณะที่บางส่วนหันไปสู่การประกอบอาชญากรรม โดยเฉพาะคดียาเสพติดรายย่อยที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามมาด้วยคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดียาเสพติดหรือยาเสพติดนำไปสู่คดีเกี่ยวกับฉกชิง วิ่งราวทรัพย์ และการลักเครื่องมือทางการเกษตร
ในขณะที่อาชญากรรมหน้าใหม่อีส่วนหนึ่งจะมาพร้อมกับอาชญากรรมรูปแบบใหม่ๆ ในโลกใบใหม่วิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป ความไม่คุ้นเคยกับวิถีชีวิตใหม่ เทคโนโลยีใหม่ กฎกติกาใหม่ๆ ทำให้เกิดช่องว่างในการเข้าไปหลอกหลวงฉ้อโกงในรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะการหลอกหลวงผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่นการหลอกโอนเงินผ่านแอพเฟสบุ๊ค สารพัดรูปแบบ การฉ้อโกงจากการขายของออนไลน์โดยได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง หรือไม่ได้รับสินค้า การหลอกรักออนไลน์ การค้ามนุษย์ออนไลน์ การขโมยตัวตน และไซเบอร์บูลลี่ ในขณะที่การทำงานจากที่บ้าน (Work from home) ทำให้ระบบรักษาความปลอดภัยหย่อนยานลง เปิดโอกาสให้มีการแฮกข้อมูลนำไปแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ ก็การปลอมอีเมลล์เข้าไปหลอกลวง การปล่อยไวรัสเข้าไปดึงข้อมูล
คดีอีกประเภทหนึ่งที่เพิ่มมากขึ้นคือ ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีรายงานในหลายประเทศ เช่น จีน รัสเซีย ว่าในช่วงโควิด 19 มีคดีความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้นในช่วงล๊อคดาวน์ อย่างไรก็ตามหากคลายล๊อคดาวน์แล้ว ผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจจะทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งหันเข้าหายาเสพติดและเสพสุราผนวกกับความยากแค้นในการทำมาหากินทำให้เกิดความเครียด ก็จะนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่จะเพิ่มมากขึ้นรวมถึงความรุนแรงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในท้องถนน ความรุนแรงในที่ทำงาน ความรุนแรงจากการหึงหวงและความรุนแรงจากการขัดกันเองของผลประโยชน์
ผู้พ้นโทษรายเก่า
ในขณะที่มีอาชญากรหน้าใหม่เพิ่มขึ้น อาชญากรหน้าเก่าไม่ได้หายไปไหน ในปีหนึ่งๆ จะมีผู้พ้นโทษออกมาจากเรือนจำเมื่อรับโทษตามกำหนดแล้วปีละประมาณ 100,000 กว่าคน ในจำนวนนี้ภายใน 3 ปี จะมีผู้กลับเข้ามาในเรือนจำอีกครั้งจำนวน 1 ใน 3
สำหรับผู้พ้นโทษที่เป็นอาชญากรอาชีพ หรือพวกผู้กระทำผิดที่ก่อเหตุซ้ำซากหรือกระทำผิดติดนิสัยแล้วไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไรก็มักจะกระทำผิดซ้ำอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอกับเศรษฐกิจตกต่ำและบีบคั้น หลังการระบาดของโควิด 19 ก็มีโอกาสจะก่อเหตุอีกสูงมากโดยเป็นอาชญากรรมแบบเดิมๆ และเป็นอาชญากรรมพื้นฐานลัก วิ่ง ชิง ปล้น และโดยเฉพาะคดียาเสพติด
ผู้พ้นโทษอีกส่วนแม้จะไม่ใช่อาชญากรอาชีพ หรือกระทำผิดซ้ำซากแต่กระทำด้วยความจำเป็นหรือพลั้งพลาดด้วยอารมณ์ชั่ววูบ แม้จะตั้งใจไว้จะไม่กระทำผิดผิดซ้ำกลับเข้าไปในเรือนจำอีก เมื่อพ้นโทษออกมาเจอกับโลกใบใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หมดหนทางที่จะทำมาหากิน แม้จะกลับไปหาครอบครัวก็จะพบว่าครอบครัวก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน การกลับไปสู่วิธีทางเดิมก็จะทำได้ง่ายกว่าคนที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์มาก่อน โอกาสในการประทำผิดซ้ำจากคนกลุ่มนี้จึงมีสูงโดยเฉพาะคดียาเสพติดและคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน จนกล่าวได้ว่าหลังโควิด 19 เราจะมี “ผู้กระทำผิดซ้ำรายใหม่” เพิ่มมากขึ้น
การเติบใหญ่ของแก๊งอาชญากรรม
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบถึงคนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อแก๊งอาชญากรรมและองค์กรอาชญากรรมต่างๆ ด้วย ทำให้แก๊งอาชญากรรมไม่สามารถดำเนินธุรกิจไปได้ระยะหนึ่งแต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสใหม่ที่จะทำให้แก๊งอาชญากรรมได้หากิน โดยเฉพาะการปล่อยเงินกู้นอกระบบที่เฟืองฟูในช่วงสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและภายหลังจากธนาคารต่างๆ หมดโปรโมชั่นพิเศษตามมาตรการการช่วยเหลือของรัฐบาล ในขณะที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะกลับมาปฏิบัติการอีก โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ๆ ในการหลอกลวง แต่ที่สำคัญคือการฉ้อโกงเงินออนไลน์ โดยการโจรกรรมข้อมูลและแฮ๊คเข้าระบบก่ออาชญากรรมไซเบอร์และอาชญากรรมเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งแก๊งอาชญากรรมและองค์กรอาชญากรรมขึ้นสูงมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนไปสู่สังคมดิจิตอลอีโคโนมีมากขึ้น หลังการระบาดของโควิ 19 จะเป็นช่องทางให้แก๊งอาชญากรรมประกอบอาชญากรรมได้มากขึ้น
การตอบสนองของกระบวนการยุติธรรม
การเพิ่มขึ้นและเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ๆ ของอาชญากรรมในช่วงหลังการระบาดของโควิด 19 ดังกล่าวทำให้กระบวนการยุติธรรมต้องปรับตัวเพื่อรับมือและสกัดการเติบโตของอาชญากรรมดังกล่าว โดยเฉพาะหน่วยปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและอาชญากรรมไซเบอร์ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่ายในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานทางเศรษฐกิจอื่นๆ นอกกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้จะต้องมีการปรับรูปแบบและวิธีการในการรับมือกับปัญหาอาชญากรรมดังกล่าวซึ่งรวมถึงการมีกฎหมายให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของอาชญากรรมรูปแบบใหม่ๆ
ในด้านอาชญากรรมหน้าใหม่ซึ่งจะมาพร้อมกับปัญหาเศรษฐกิจ การแก้ปัญหานี้นอกจากการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมตามปกติแล้ว ก็ต้องมีการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ การจัดหางานและส่งเสริมอาชีพการตลาดและการจัดสวัสดิการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาปากท้องที่เป็นที่มาของการผลักดันกลุ่มนี้เข้าสู่การกระทำผิด
สำหรับอาชญากรหน้าเก่า ซึ่งก็คือกลุ่มพ้นโทษที่จะออกมาในช่วง 1-3 ปี เป็นกลุ่มที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มผู้กระทำผิดจนติดนิสัยหรือกระทำผิดซ้ำซาก ซึ่งอาจจะต้องบริหารโทษในการกันคนเหล่านี้ออกจากการกลับสู่สังคมให้ช้าลง ในขณะที่ผู้ต้องขังทุกคนที่จะพ้นโทษออกมาจะต้องผ่านการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและการดูแลหลังปล่อยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ อันเนื่องมาจากที่ต้องออกมาเผชิญกับโลกใบใหญ่และสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำและบีบคั้น โดยรัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับการนี้ และร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและดูแลหลังปล่อยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
ในส่วนของแก๊งอาชญากรนั้น จะต้องมีการดำเนินการป้องกันและปราบปรามอย่างเด็ดขาด ตามยุทธวิธีปกติที่ดำเนินการอยู่ และเพิ่มเติมด้วยมาตรการยึดทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
วิถีชีวิตใหม่
สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างใหญ่หลวงหลังระบาดของโควิด 19 จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหนนั้น ยังไม่อาจทราบได้อย่างแน่ชัด แต่ที่แน่ๆ คือสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมหลังการระบาดของโควิด 19 ในครั้งนี้จะแตกต่างไปจากการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำโดยทั่วไป เพราะมีอาชญากรหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น ที่มาประกอบอาชญากรรมในรูปแบบใหม่ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมหลังระบาดของโควิด 19 ที่เรียกว่า นิวนอร์มอล ที่มาพร้อมกับวิถีชีวิตใหม่ของผู้คนในสังคม แต่ที่สำคัญก็คือ อาชญากรรมรูปใหม่นี้จะไม่คงที่แต่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ตลอดเวลา ความฉับไวในการรับมือกับอาชญากรรมหลังโควิด 19 จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการทำให้สังคมสงบปลอดภัยจากอาชญากรรม