อาชญาวิทยาสีเขียว
A Green Criminology
พิมพ์พร เนตรพุกกณะ
เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 4 กองแผนงาน
ทำไมอาชญาวิทยาจึงมีสีเขียว? บางท่านอาจเคยได้ยินคำว่า The Greening of Criminology หรือ Green Crime มาบ้าง แต่ไม่ทราบว่าสิ่งนี้คืออะไร และมีความเชื่อมโยงหรือแตกต่างอย่างไรกับอาชญาวิทยา แท้จริงแล้ว อาชญาวิทยาสีเขียวนั้น หมายถึง อาชญาวิทยาที่ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือ ถ้าอธิบายอย่างเบื้องต้น ก็คือ การศึกษาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (crimes against the environment)
การทำลายและฉกฉวยผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติบนโลกนั้น ได้เกิดขึ้นมานาน แต่เพิ่งถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เนื่องจากกระแสความสนใจของประชาคมโลกที่มีต่อความสูญเสียทางสภาวะแวดล้อม และความพยายามของนักอาชญาวิทยากลุ่มหนึ่งที่เรียกร้องและสะท้อนมุมมองที่มีต่อการกระทำเหล่านั้นว่าเป็น อาชญากรรมประเภทหนึ่ง
ประเภทของอาชญากรรมสีเขียว
นักอาชญาวิทยา ได้แบ่งอาชญากรรมสีเขียวออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. อาชญากรรมสิ่งแวดล้อมขั้นปฐมภูมิ (Primary green crimes) หมายถึง อาชญากรรมที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำลายทรัพยากรบนโลกโดยการกระทำของมนุษย์ ซึ่งสามารถแบ่งย่อยออกเป็น 4 ประเภท เช่น อาชญากรรมการก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ อาชญากรรมการตัดไม้ อาชญากรรมที่มีต่อสัตว์ป่าธรรมชาติ และเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ
2. อาชญากรรมสิ่งแวดล้อมขั้นทุติยภูมิ (Secondary or symbiotic green crimes) คือ อาชญากรรมที่ไม่ได้กระทำต่อทรัพยากรธรรมชาติโดยตรง แต่เกิดผลทางอ้อม อาทิเช่น การที่หน่วยงาน ตลอดจนบริษัทเอกชนต่างๆ ในบางประเทศ จงใจละเมิดกฎระเบียบข้อบังคับของประเทศตนเองและก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ หรือ กรณีการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลต่อกลุ่มองค์กรฝ่ายตรงข้ามที่เรียกร้องไม่ให้เกิดการกระทำผิดด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ในปี ค.ศ. 1985 เรือ Rainbow Warrior ของกลุ่มกรีนพีซ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ หน่วยงานของประเทศฝรั่งเศสลอบวางระเบิด ขณะกำลังรณรงค์ต่อต้านการทดลองนิวเคลียร์ของประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น[1]
ตัวอย่างอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโลก คือ เหตุการณ์ระเบิดที่โรงงานเคมีของบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ (the Union Carbide) ที่เมืองโบปาล ประเทศอินเดีย เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1984 ซึ่งได้รับการ ขนามนามว่าเป็นเหตุการณ์อุบัติภัยที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่ผ่านมา โดยต้นเหตุเกิดจากความเพิกเฉย และการบริหารจัดการที่ไร้ระบบ จนเมื่อสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตเกิดการรั่วไหล ผสมกับน้ำและเกิดอานุภาพระเบิดที่รุนแรงอย่างมหาศาล ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายทันที ทั้งมลพิษการเผาไหม้ของระเบิดสารเคมี และการปนเปื้อนแทรกซึมสู่พื้นดินและน้ำ นอกจากนั้น ยังเป็นที่คาดกันว่าผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและได้รับผลกระทบ ภายหลังเหตุการณ์นี้มีจำนวนมาก คือ เสียชีวิตประมาณ 6,000 คน ผู้บาดเจ็บพิการตลอดชีพกว่า 20,000 คน รวมถึงผู้ได้รับสารพิษอย่างรุนแรง 60,000 คน
ภาพเหตุการณ์โรงงานยูเนียนคาร์ไบด์ระเบิดที่เมืองโบปาล ประเทศอินเดีย เมื่อปี ค.ศ. 1984
ประเด็นที่ต้องพิจารณา
เมื่อรับทราบข้อมูลพื้นฐานคร่าวๆ เกี่ยวกับอาชญาวิทยาสีเขียวข้างต้นแล้ว จะพบว่ามีหลายประเด็นที่ น่าสนใจเป็นพิเศษ และสามารถศึกษาวิเคราะห์ต่อยอดได้ เช่น
1. ใครคือเหยื่ออาชญากรรม?
ดังที่กล่าวข้างต้นว่า อาชญากรรมสีเขียว ถูกละเลยมองข้ามความสำคัญมานาน สาเหตุประการหนึ่ง คือ การที่เหยื่อโดยตรงของอาชญากรรมประเภทนี้มักจะไม่ใช่ มนุษย์ หากแต่เป็นทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นดิน แผ่นน้ำ และสัตว์ป่า (ดูแผนภาพด้านล่างประกอบ) ซึ่งไม่สามารถเรียกร้องขอความเห็นใจ หรือ ความช่วยเหลือใดๆ จากเหตุการณ์โหดร้ายที่ถูกกระทำได้ จนบางครั้ง การกระทำผิดเหล่านี้ถูกมองว่าไม่มี ผู้เสียหาย
นอกจากนั้น การที่อาชญากร หรือ คนที่ประกอบอาชญากรรมดังกล่าว ก็คือ มนุษย์ จึงทำให้เกิดการปฏิเสธ หรือ จงใจคิดเข้าข้างตนเองอยู่เสมอว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นไม่ใช่ อาชญากรรม
อย่างไรก็ดี เราควรตระหนักว่า มนุษย์ก็ยังถือเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากอาชญากรรมประเภทนี้ได้ ดังนั้น นักอาชญาวิทยาตะวันตกจำนวนหนึ่งจึงเริ่มรณรงค์ให้มีการให้ความสำคัญในการศึกษาอาชญากรรมสีเขียวอย่างเป็นจริงเป็นจัง แพร่หลายและเป็นระบบมากขึ้น
2. ผลกระทบของอาชญากรรมสีเขียว
จากเหตุการณ์ที่เมืองโบปาลได้ทำให้สังคมโลกหันกลับมามองอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจาก สามารถส่งผลกระทบทั้งแบบทันทีภายหลังเหตุการณ์ และยังสร้างผลกระทบสืบเนื่องที่มีต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ สัตว์ป่าท้องถิ่น ตลอดจนมนุษย์ มากระทั่งถึงปัจจุบัน แม้จะผ่านพ้นมาแล้วกว่า 20 ปี และมีแนวโน้มจะยังคงมีต่อไปอีกในอนาคต
ปัจจุบัน ประชากรเมืองโบปาลจำนวนมากยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ โดยเฉพาะการปนเปื้อนของสารเคมีที่เป็นพิษในพื้นดินและน้ำ ความทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วยและความพิการต่างๆ
นอกจากนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบอย่างมากต่อเหตุการณ์การกระทำผิดต่อธรรมชาตินี้ มักเป็น กลุ่มคนยากจนหรือ ชนกลุ่มน้อย ที่ไม่มีทางเลือกในการดำรงชีวิตมากนัก อีกทั้ง ยังไม่มีอำนาจในการเรียกร้องให้เกิดการชดเชย อย่างกรณีประชากรในเมืองโบปาลนั้น เป็นที่ทราบกันว่า ได้รับ เงินชดเชยจากบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ คนละเพียงประมาณ 1,000 กว่าดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่ และมีการรวมพลังกัน เรียกร้องขององค์กรทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคมของเอกชน ทั้งในระดับรัฐและระหว่างประเทศ
ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ที่เมืองโบปาลยังต้องทนทุกข์ทรมานจนถึงปัจจุบัน
3. บทลงโทษของอาชญากรรมสีเขียว
ประเด็นนี้ถือเป็นสิ่งที่มีการถกเถียงกันอย่างมาก เนื่องจาก กฎหมายที่รัฐแต่ละประเทศกำหนดบทลงโทษต่ออาชญากรรมสิ่งแวดล้อมนั้นยังไม่ชัดเจน ไม่รุนแรงสอดคล้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้น อีกทั้งมีปัญหาในการนำคดีอาชญากรรมเหล่านี้ขึ้นพิจารณาคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความยากลำบากในการพิสูจน์ว่าผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาในการกระทำผิดหรือไม่ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ควรได้รับการผลักดันเพื่อให้เกิดการพัฒนาแก้ไขให้ดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม หนึ่งในตัวอย่างข้อเสนอของนักอาชญาวิทยาสีเขียวนั่นคือ การใช้บทลงโทษทางสังคม หรือ การประณามต่อต้านการกระทำที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การแสดงจุดยืนไม่สนับสนุนซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่เป็นอาชญากรสิ่งแวดล้อม ซึ่งการใช้บทลงโทษทางสังคมจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคนในสังคมจึงจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนั้น กระแสโลกาภิวัตน์ ยังส่งผลให้อาชญากรรมสิ่งแวดล้อมหลายครั้งที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวข้องและสร้างผลกระทบในลักษณะข้ามชาติ นั่นคือ ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง หากแต่ต้องประสานความร่วมมือในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ดังนั้น หากรัฐใดรัฐหนึ่งไม่เห็นความสำคัญและเพิกเฉยต่อปัญหาอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็คงไม่ประสบผลสำเร็จ
สรุป
อาชญากรรมสีเขียวหรืออาชญากรรมสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอาชญากรรมประเภทอื่นๆ เนื่องจากผลกระทบมักเกิดขึ้นในวงกว้าง การที่เหยื่อของอาชญากรรมโดยตรงไม่ใช่มนุษย์นั้น ไม่สามารถเป็นข้ออ้างในการลดทอนความสำคัญของการศึกษาอาชญากรรมประเภทดังกล่าวๆ หรือ การปล่อยปละละเลยซึ่งกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ทุกคนในโลก ไม่เฉพาะแต่นักอาชญาวิทยา ที่จะหันมาให้ความสนใจกับอาชญากรรมประเภทนี้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมสีเขียวในอนาคต
———————————————————
References
Carrabine, E., Iganski, P., Lee, M., Plummer, K. and South, N. (2004) Criminology: a Sociological Introduction. London: Routledge.
http://news.bbc.co.uk/onthisday/hi/dates/stories/july/10/newsid_2499000/2499283.stm (28 July 2006)
http://www.bhopal.net (26 July 2006)
http://www.thegully.com/essays/asia/041222_bhopal_india_disast.html (26 July 2006)
[1]เหตุการณ์ระเบิดครั้งนั้น ส่งผลให้มีลูกเรือเสียชีวิต 1 คน โดยเจ้าหน้าที่หน่วยราชการลับของฝรั่งเศส 2 นาย ถูกตั้งข้อกล่าวหาฆาตกรรมและวางเพลิง ขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธความเกี่ยวข้องใดๆ กับการกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวฯ