อาชญาวิทยาหลังสมัยนิยม

   อาชญาวิทยาหลังสมัยนิยม (Postmodern Criminology)

                                                                                                                 ดร. นัทธี จิตสว่าง

 บทนำ

แนวคิดอาชญาวิทยาหลังสมัยนิยม (Postmodern criminology) นี้ Walter S. DeKeseredy, (2011) ได้จัดเป็นแนวคิดทฤษฎีทางอาชญาวิทยาในกลุ่มทฤษฎีวิพากษ์ (Critical theory) ซึ่งประกอบด้วยแนวความคิดเกี่ยวกับ Feminism, Left realism, Peacemaking criminology, Cultural criminology, Convict criminology และ Postmodern criminology เหตุที่ทฤษฎีเหล่านี้จัดเป็นกลุ่มทฤษฎีวิพากษ์เพราะเป็นทฤษฎีที่เสนอแนวคิดในการวิพากษ์วิจารณ์หรือต้านแนวคิดทฤษฎีเดิมๆที่มีอยู่ก่อน จึงเป็นกลุ่มทฤษฎีที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเสนอมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

 

แนวคิดอาชญาวิทยาหลังสมัยนิยมเป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดหลังสมัยนิยมที่ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการศึกษาอาชญาวิทยาในช่วงทศวรรษที่ 1980 (Henry and Milovanovic, 2005) แม้จะเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจจากนักอาชญาวิทยาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาแต่โดยที่แนวคิดของอาชญาวิทยาหลังสมัยนิยมมีความหลากหลายและกระจัดกระจาย (ตามรูปแบบของแนวคิดหลังสมัยนิยม) จึงทำให้การศึกษาและการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวความคิดในเรื่องนี้ทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะทำให้เข้าใจในแนวคิดอาชญาวิทยาหลังสมัยนิยม จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจกับแนวคิดในยุคก่อนสมัยนิยม (Pre-modernism) และยุคสมัยนิยม (Modernism) ประกอบด้วย

 

1. แนวคิดยุคก่อนสมัยนิยม (Pre – modernism)

แนวคิดยุคก่อนสมัยนิยม เป็นแนวคิดที่มีมาก่อนศตวรรษที่ 18 เป็นยุคที่มนุษย์มีความเชื่ออย่างเบ็ดเสร็จในพระเจ้าและผู้ปกครอง มนุษย์ฝากชีวิตไว้กับอำนาจสูงสุดที่มีเทพเจ้าเป็นศูนย์กลาง และอำนาจดังกล่าวถูกใช้โดยการตีความของผู้มีอำนาจ ยุคนี้จึงจัดได้ว่าเป็นยุคเทวสิทธิ์ ซึ่งเชื่อว่าผู้นำได้อำนาจมาจากเทพเจ้าหรือเป็นผู้มีบุญญาธิการและเป็นผู้ที่มิอาจโต้แย้งได้ เช่นเดียวกับศาสนาที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อของมนุษย์ในยุคนี้ มนุษย์ไม่อาจที่จะคิดในสิ่งที่ท้าทายหรือโต้แย้งต่ออำนาจและหลักการของผู้นำหรือศาสนาได้ มนุษย์ไม่อนุญาตให้คิดที่จะเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ หรือตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่ถือกันว่าเป็นความจริง เพราะความจริงถือว่าเป็นสิ่งสมบูรณ์ (Absolutism) ผู้นำหรือผู้ปกครองจึงมีอำนาจมาก สามารถที่จะลงโทษและกำหนดข้อห้ามและความผิดได้ตามอำเภอใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดสิ่งที่ขัดแย้งและต่อต้านผู้ปกครองเป็นความผิด ในขณะที่การลงโทษก็เป็นการลงโทษที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและปราศจากกฎเกณฑ์และการพิสูจน์ความจริงที่แน่ชัด ความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ในยุคนี้จึงขึ้นอยู่กับผู้นำที่มีอำนาจปกครอง

 

2. แนวคิดยุคสมัยนิยม (Modernism)

แนวคิดในยุคสมัยนิยมก่อตัวขึ้นในศตวรรษที่ 18 ในยุคแห่งความรู้แจ้ง (Enlightenment) อันเป็นผลมาจากการประดิษฐ์คิดค้นและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์     ทำให้มนุษย์มีความมั่นใจและกล้าคิดกล้าแสดงออกซึ่ง “เหตุผล” โดยเชื่อว่าเมื่อมนุษย์สามารถค้นพบเหตุผลในการอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ได้ทำไมจะใช้เหตุผลในการอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติของสังคมมนุษย์ไม่ได้ ยุคนี้เองจึงเป็นยุคที่มนุษย์เริ่มนำหลักเหตุผลมาหักล้าง แนวคิดลัทธิเทวสิทธิ์ และ ไสยศาสตร์ โดยเกิดการเคลื่อนไหวของเหล่านักคิด นักเขียน และนักปรัชญาในยุโรปที่มุ่งปฏิรูปสังคมและการเมือง นักปรัชญาสังคมคนสำคัญของยุคนี้ เช่น Voltaire, Montesquieu, John Locke, Jean-Jacques Rousseau และ Thomas Hobbes ได้เสนอแนวคิดสำคัญๆเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของมนุษย์และหลักปรัชญาการเมือง โดยเฉพาะการเสนอหลักการแบ่งแยกอำนาจ และ สัญญาประชาคม (Social contract)

ในยุคนี้เองได้เกิดมีสำนักความคิดทางอาชญาวิทยาขึ้นมา คือ สำนักคลาสสิค (Classical School of Criminology) นำโดย Cesare Beccaria เพื่อที่จะโต้แย้งต่อการใช้กฎหมายและการลงโทษอย่างไม่ยุติธรรม และ ทารุณโหดร้ายของผู้ปกครองซึ่งมีอำนาจไม่จำกัด สำนักคลาสสิคมีความเชื่อว่ามนุษย์มีเจตจำนงอิสระ (Free will) ที่จะคิดไตร่ตรองถึงผลของการกระทำของตน และมนุษย์จะเลือกกระทำให้สิ่งที่ให้ประโยชน์ และหลีกเลี่ยงโทษ การที่บุคคลกระทำผิดจึงเกิดจากการเห็นประโยชน์จากการกระทำผิดและไม่เกรงกลัวโทษ การลงโทษผู้กระทำผิดจึงต้องมุ่งในการป้องกันอาชญากรรมโดยการทำให้ผู้กระทำ และ ผู้ที่คิดจะกระทำเกิดการยับยั้งไม่กล้ากระทำผิด ดังนั้นการลงโทษต้องมีความแน่นอน รวดเร็วและเหมาะสมกับความผิดที่ได้กระทำไป และจะต้องมีกฎหมายกำหนดให้แน่ชัดว่าการกระทำใดบ้างที่เป็นความผิด คนทั่วไปจะได้รู้และเกรงกลัว

ต่อมาในศตวรรษที่ 19 ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นผลผลิตการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific revolution) เริ่มส่งผลอย่างชัดแจ้งจนทำให้การเข้าถึงความจริงหรือการแสวงหาความรู้ในยุคนี้ถูกผูกขาดด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์โดยเชื่อว่า ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงความจริงที่ปราศจากกาลเวลา สถานที่ วัฒนธรรม และ ความเชื่อ โดยเป็นความจริงที่เป็นสากลที่มิอาจปฏิเสธได้ การพิสูจน์ความรู้และความจริงที่อาศัยหลักเหตุผลและผลทางวิทยาศาสตร์ หรือ วัตถุวิสัยนี้เองที่กลายมาเป็นสาระสำคัญของแนวคิดในยุคสมัยนิยม

ในทางอาชญาวิทยา สำนักอาชญาวิทยาปฏิฐานนิยม (Positive School of Criminology) นำโดย Lombroso, Galafalo และ Ferri ชาวอิตาลี ได้ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ตามแนวตรรกปฏิฐานนิยม (Logical positivism) มาทำการศึกษาตัวอาชญากรและสาเหตุอาชญากรรม และอิทธิพลของสำนักปฏิฐานนิยมมีอย่างต่อเนื่องต่อการศึกษาอาชญาวิทยาในสหรัฐฯ จนทำให้ทฤษฎีอาชญาวิทยาในระยะต่อมา ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีทางสังคมวิทยา ทฤษฎีทางจิตวิทยา หรือทฤษฎีทางชีวภาค ต่างมุ่งเน้นศึกษาและอธิบายสาเหตุของอาชญากรรมและพฤติกรรมของอาชญากรด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้เหตุผลและการทดสอบเชิงประจักษ์เป็นหลัก โดยเฉพาะทฤษฎีทางด้านโครงสร้างและหน้าที่ที่ครอบงำการศึกษาอาชญาวิทยาในสหรัฐมาเป็นเวลานาน ในยุคสมัยนิยม

 

3. แนวคิดยุคหลังสมัยนิยม (Postmodernism)

แนวคิดหลังสมัยนิยมที่มีกำเนิดมาจากในฝรั่งเศสและเยอรมัน มีอิทธิพลต่อการศึกษาในสาขาวิทยาการต่างๆมากมาย (Curran and Renzetti, 2001) โดยแนวคิดนี้ถือว่าโลกในยุคปัจจุบันเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา สรรพสิ่งในโลกล้วนไม่แน่นอน ซึ่งรวมถึงองค์ความรู้ต่างๆ โลกที่เราอยู่ทุกวันนี้ยังเป็นโลกที่มีความหลากหลายและแยกส่วนของกลุ่มคนและชุมชนต่างๆ ตามความเชื่อและวัฒนธรรมซึ่งต่างมีอัตลักษณ์ของตนเองและมีบริบทที่แตกต่างกันออกไป จึงไม่ควรที่จะใช้กฎหรือเกณฑ์ หรือ ทฤษฎีที่เป็นการรวมศูนย์ที่มีลักษณะใช้ได้ทั่วไปครอบคลุมและควบคุมทุกสิ่งจากส่วนกลาง นอกจากนี้แนวคิดหลังสมัยนิยมยังต่อต้านการได้มาของความรู้ที่มาจากการใช้เหตุผลและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ดังที่ Feyerabend (1975) กล่าวโจมตีว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เป็นแหล่งที่มาของความรู้แต่เพียงแนวทางเดียวและไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะความจริงในทัศนะของแนวคิดหลังสมัยนิยม เป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นมาและครอบงำโดยผู้มีอำนาจให้ต้องยอมรับความจริงนั้น ทั้งๆที่ความจริงนั้นเป็นสิ่งที่สลับซับซ้อนและโต้แย้งได้เสมอ

แนวคิดหลังสมัยนิยมได้เข้ามามีอิทธิพลต่ออาชญาวิทยาในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 (Henry and Milovanovic, 2005) แต่แนวคิดอาชญาวิทยาหลังสมัยนิยมมีหลายทัศนะที่หลากหลายและยากที่จะสรุปรวบรวมได้อย่างเป็นระบบ จึงทำได้เพียงแต่รวบรวมแนวคิดและแนวโน้มอย่างกว้างๆ เท่านั้น

แนวคิดอาชญาวิทยาหลังสมัยนิยมที่สำคัญ เน้นว่าการค้นหาสาเหตุอาชญากรรมหรือทฤษฎีอาชญาวิทยาที่เป็นหลักทั่วไปนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้องเพราะปัญหาอาชญากรรมเป็นปัญหาที่มีความหลากหลายและแยกส่วน ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละสถานที่และกาลเวลา เพราะโลกในปัจจุบันเป็นโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความแตกต่างและหลากหลาย อิทธิพลของทฤษฎีที่เน้นอธิบายในภาพรวมจึงลดความสำคัญลง เพราะทฤษฎีครอบจักรวาลมักจะเน้นการอธิบายในมุมเดียวด้านเดียว และละเลยการมองจากมุมมองที่หลากหลาย ดังนั้น ความสำคัญจึงไปอยู่ที่การอธิบายปัญหาอาชญากรรมที่คำนึงถึงบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละที่มากกว่าการพยายามหาคำตอบในภาพรวม ในขณะที่งานของ Stuart Henry and Dragan Milovanovic เรื่อง Constitutive Criminology: Beyond Postmodernism (1996) เสนอให้ยกเลิกการศึกษาสาเหตุอาชญากรรม โดยให้หันมาศึกษาถึงอาชญากรรมในส่วนประเด็นเกี่ยวกับความสับสนวุ่นวาย, วาทกรรม, การกำหนดโดยสังคม และการศึกษาเชิงคุณภาพ เป็นต้น ทั้งนี้โดยถือว่าอาชญากรรมเป็นผลมาจากการที่สังคมกำหนดให้พฤติกรรมบางอย่างที่ขัดต่อผู้มีอำนาจจัดให้เป็นอาชญากรรม ดังจะเห็นว่าพฤติกรรมบางอย่างอาจถูกกำหนดเป็นอาชญากรรมในสังคมหนึ่งแต่อาจไม่เป็นพฤติกรรมอาชญากรรมในอีกสังคมหนึ่ง ดังนั้น การจะเรียกว่าเป็นอาชญากรรมหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับสังคมกำหนด ซึ่งเป็นเรื่องของภาษาและคำศัพท์ที่นำมาใช้ในการเรียกขาน

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องให้คำจำกัดความในความหมายของอาชญากรรมเกินกว่าคำจำกัดความแคบๆตามกฎหมาย โดยความหมายของอาชญากรรมควรจะครอบคลุมถึงความยุติธรรมและการคุกคามต่ออัตลักษณ์ของบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมก็เป็นส่วนของปัญหามากกว่าจะเป็นส่วนแก้ไขปัญหา เพราะกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือของผู้ที่มีอำนาจในการควบคุมปราบปรามสิ่งที่แตกต่างออกไปจากที่ผู้มีอำนาจกำหนด การแก้ปัญหาอาชญากรรมจึงควรมีการแตกย่อยจากรัฐในการป้องกันอาชญากรรมโดยให้ท้องถิ่น ภาคประชาสังคม หรือเอกชนเข้ามามีส่วนในการควบคุมทางสังคมและการประนอมข้อพิพาทอย่างไม่เป็นทางการมาใช้แทนระบอบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักเช่นในปัจจุบัน

ในขณะที่ทฤษฎีอาชญาวิทยาในยุคสมัยนิยมนำเสนอความจริงเชิงปรนัยหรือเชิงวัตถุวิสัย โดยเชื่อว่ามนุษย์สามารถเข้าถึงสาเหตุของอาชญากรรมได้ด้วยการวิจัยที่ปลอดพ้นจากอคติเชิงค่านิยม โดยดึงตัวเองออกมาจากสิ่งที่ศึกษา โดยสามารถพิสูจน์หรือทดสอบได้ว่าเป็นจริงตามที่ตั้งสมมติฐานไว้ และวิธีการศึกษาแบบนี้เป็นวิธีการเดียวที่จะนำไปสู่ความจริงที่ต้องการศึกษาได้ การเข้าถึงความจริงที่ไม่สามารถพิสูจน์เชิงประจักษ์อย่างเป็นเหตุเป็นผล หรือไม่เป็นวัตถุที่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ จะไม่ถือว่าเป็นความจริงที่ได้รับการยอมรับ การศึกษาอาชญาวิทยาโดยอาศัยวิทยาศาสตร์จึงเป็นชุดความรู้ที่ครอบงำวิธีคิดของนักอาชญาวิทยาในยุคสมัยนิยม ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดอาชญาวิทยาหลังสมัยนิยม ที่ไม่ต้องการให้มีกรอบการอธิบายหรือวิธีการหาความจริงที่ตายตัว หรือ วิธีการทางวิทยาศาสตร์แบบเดียวเท่านั้นที่จะเข้าถึงความจริงได้

หากจะเปรียบเทียบแนวคิดของอาชญาวิทยาสมัยนิยม และ อาชญาวิทยาหลังสมัยนิยมแล้ว จะเห็นว่ามีแนวคิดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังปรากฏตาม ตารางที่ 1

 

ตารางที่ 1 ความแตกต่างของอาชญาวิทยาสมัยนิยมกับอาชญาวิทยาหลังสมัยนิยม

 

สรุป

โลกในยุคปัจจุบันเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจนไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งและหลากหลายของกลุ่มต่างๆที่อยู่ในสังคมที่ต่างมีอัตลักษณ์ของตนเอง การมองโลกของนักอาชญาวิทยาหลังสมัยนิยมจึงแตกต่างไปจากนักอาชญาวิทยาสมัยนิยม ที่เน้นความเป็นปึกแผ่น การใช้อำนาจจากศูนย์กลางและความเป็นทางการ นักอาชญาวิทยาหลังสมัยนิยมจึงต่อต้านทฤษฎีอาชญาวิทยาแบบเหมารวมหรือรวมศูนย์ที่ใช้อธิบายครอบคลุมได้ทั่วไป เพราะเชื่อว่าไม่สามารถอธิบายความจริงเกี่ยวกับอาชญากรรมได้ครอบคลุมในทุกมิติ โดยเฉพาะความจริงเกี่ยวกับทฤษฎีอาชญาวิทยาที่พัฒนามาจากระเบียบวิธีการศึกษาแบบประจักษ์นิยมแบบเป็นวิทยาศาสตร์ จึงเสนอแนวทางการใช้ภาษาในการทำความเข้าใจกับปัญหาอาชญากรรม โดยอาชญาวิทยาหลังสมัยนิยมเสนอแนวทางในการศึกษาอาชญาวิทยาแนวใหม่ต่างจากเดิมทั้งในด้านเนื้อหาและระเบียบวิธีการศึกษาโดยเน้นการให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาในการอธิบายปัญหาอาชญากรรม แต่อาชญาวิทยาหลังสมัยนิยมก็ยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่อาชญาวิทยาสมัยนิยมได้ เพียงแต่ให้มุมมองและวิธีคิดที่แตกต่างออกไป โดยยังไม่สามารถล้มล้างแนวการศึกษาแบบประจักษ์นิยม หากแต่มีการเสริมงานวิจัยเชิงคุณภาพเข้ามามากขึ้น และยังไม่สามารถล้มล้างทฤษฎีอาชญาวิทยาสมัยนิยมอื่นๆได้ หากแต่เสริมทฤษฎีอาชญาวิทยาหลังสมัยนิยมเพิ่มขึ้นมาและยังไม่สามารถผลักดันกระบวนการยุติธรรมคู่ขนานหรือกระบวนการยุติธรรมทางเลือกขึ้นมาทดแทนกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก หรือ ยังมิอาจยกเลิกแนวทางการป้องกันอาชญากรรมแนวดั้งเดิมที่ให้แนวทางการบังคับใช้กฎหมายเพื่อทดแทนด้วยการป้องกันอาชญากรรมโดยชุมชนสัมพันธ์ได้อย่างแท้จริง หากแต่อาชญาวิทยาหลังสมัยนิยมได้ทำให้แนวคิดทฤษฎีอาชญาวิทยาและแนวทางปฏิบัติในการป้องกันอาชญากรรมมีการเปรียบเทียบและเสริมสร้างปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสังคมได้

                                                  ****************************

                                                                   บรรณานุกรม

 

Curran, D. J. and Renzetti, C. M. (2001)Theories of Crime. Boston. MA: Allyn and Bacon.

 

DeKeseredy, W. S. (2011) Contemporary Critical Criminology. New York: Taylor & Francis.

 

Feyerabend, P. (1975) How to defend society against science. Radical Philosophy. No 11. Summer 03 1975.

 

Henry, S. and Milovanovic, D. (1996) Constitutive Criminology: Beyond postmodernism. London: Sage Publications.

 

Henry, S. and Milovanovic, D. (2005) Postmodernism and constitutive theories of criminal behavior. In Wright, R. A. and Miller, J. M. (Eds), Encyclopedia of Criminology, volume 2. New York, NY: Routledge. pp.1245-1249.

แหล่งรวบรวมความรู้ด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม