โลกใบใหม่ของผู้ที่กำลังจะพ้นโทษออกมาจากเรือนจำ
ในยุคหลังการระบาดของโควิด19
นัทธี จิตสว่าง
การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ในประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกอย่างมากมาย กล่าวกันว่าโลกหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ในครั้งนี้จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ โดยเฉพาะในปัญหาเศรษฐกิจของไทย ซึ่งจะเกิดภาวะเศรษฐกิจทดถอยผู้คนจะตกงานกันมากมาย การทำมาหากินของ ผู้คนจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก กำลังซื้อลดลง หนี้สินและหนี้เสียส่วนบุคคลเพิ่มสูงขึ้น โดยมีสภาพไม่ต่างอะไรจากสภาพวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 สถานการณ์เช่นนี้ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อปัญหาสังคมที่จะตามมา โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมที่สภาพเศรษฐกิจสังคมจะบีบคั้นให้คนหันไปสู่การกระทำผิดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมถึงผู้พ้นโทษที่จะได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษออกมาโดยปกติปีละประมาณ 100,000 กว่าคน
การกลับสู่สังคมของผู้พ้นโทษในสภาวะปกติก็เป็นเรื่องที่ยากลำบากอยู่แล้ว แต่กลับเข้าสู่สังคมในยุคที่โรคโควิด19 กำลังระบาดหรือหลังการระบาดในอีก 1 – 2 ปีนี้ จะเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะโลกยุคหลังการระบาดของโรคโควิด19 จะเป็นโลกที่แตกต่างไปจากโลกในช่วงที่พวกเขาก้าวเข้าไปสู่ในเรือนจำ
ผลกระทบของผู้พ้นโทษที่จะได้รับมีทั้งระยะสั้นและระยะยาวในระยะสั้นผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษออกในช่วงนี้จะปรับตัวอย่างไร มีการรับรองการผ่านการกักตัว 14 วัน หรือไม่ จะไปอยู่ที่ไหนในสภาวะที่มีการ Lock down พื้นที่ต่างๆ อยู่หลายพื้นที่ทำให้ผู้พ้นโทษบางคนกลับเข้าสู่จังหวัดหรือหมู่บ้านไม่ได้ การเดินทาง การหาอาหารการกิน จะทำอย่างไรโดยเฉพาะคนที่ไม่มีเงินติดตัวออกมาจากเรือนจำหรือไม่มีญาติมารอรับ
ในระยะยาว เริ่มจากปัญหาหาด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจในยุคหลังโควิด19 จะมีคนตกงานในประเทศไทยประมาณ 7 – 10 ล้านคน โรงงานต่างๆ ทยอยปิดตัวลดคนหรือเลิกกิจการในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้โอกาสที่จะได้เข้าทำงานในโรงงานของผู้พ้นโทษที่โดยปกติก็ยากอยู่แล้วจะ
ยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะแรงงานล้นตลาด เช่นเดียวกับอาชีพที่ผู้พ้นโทษส่วนใหญ่นิยมออกไปทำก็คือ อาชีพรับจ้างทั่วไปไม่ว่าจะเป็นการรับจ้างตามสถานประกอบการหรือสำนักงาน บริษัทห้างร้านต่างๆ ก็จะประสบภัยปัญหาเดียวกันและเมื่อพิจารณาถึงเรื่องการออกไปทำอาชีพค้าขายหรือลงทุนทำกิจการใดๆ ไม่ว่าขนาดเล็กขนาดใหญ่ก็ต้องเผชิญกับภาวะตลาดชะงักงันคนไม่มีกำลังมีแต่คนแย่งกันขาย
ยิ่งไปกว่านั้นอาชีพหลายอาชีพที่ฝึกกันในเรือนจำ โดยหวังว่าจะทำรายได้ดีและเลี้ยงตนเองได้ เมื่อพ้นโทษเหมือนรุ่นพี่ๆ เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่นอาชีพนวดฝ่าเท้า ก็เริ่มจะไม่แน่นอนเหมือนเดิมเพราะคนจะเริ่มมีพฤติกรรมรักษาสุขภาพที่เปลี่ยนไป การรักษาระยะห่างทางสังคมและรักษาสุขภาพจะกลายมาเป็นวัฒนธรรมใหม่หรือไม่ ในขณะที่อาชีพอื่นๆ ที่มีการฝึกกันในเรือนจำก็ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในสังคมภายนอกในช่วง 2 ปี ข้างหน้า
เมื่อให้มีการพ้นโทษต้องออกไปเผชิญกับชะตากรรมที่โหดร้ายไปไปกว่าเดิม ออกไปเผชิญกับภาระต้นทุนทางสังคมไม่มีหนทางทำมาหากินจนมีความรู้สึกว่าติดคุกก็ยังมีที่นอน มีข้าวกิน มีงานให้ทำได้เงินปันผล มีชีวิตที่ไม่ต้องดิ้นรนอะไรมาก เจ็บป่วยได้รับการรักษาสถาวะเช่นนี้อาจ จะทำให้ผู้พ้นโทษกลับมากระทำผิดซ้ำเป็นจำนวนมาก จนแทบคาดการณ์ได้ว่าสถิติผู้กระทำผิดซ้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในขณะที่ผู้กระทำผิดรายใหม่ก็จะเพิ่มสูงขึ้นจนนำไปสู่สภาวะนักโทษล้นคุก และผลักดันให้ต้องพักโทษ ผู้ต้องขังออกมาสู่สังคมวนเวียนกับไปเช่นนี้
การพักการลงโทษและปล่อยผู้พ้นโทษเมื่อครบกำหนดโทษเป็นเรื่องปกติ และเป็นสิ่งจำเป็นของราชทัณฑ์ที่ต้องทำตามกฎหมาย แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้พ้นโทษเผชิญกับสภาวะของสังคมไทยหลังยุคโควิด19 ในช่วง 1 – 2 ปีนี้แล้วอยู่รอดได้
สิ่งที่ราชทัณฑ์จะต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนก็คือในการปล่อยตัวผู้ต้องขังที่พ้นโทษหรือไม่ว่ากรณีใด รวมทั้งการพักการลงโทษนั้น จะต้องมีการคัดกรองผู้ต้องขังที่มี ความพร้อมจริงๆ ที่จะกลับสู่สังคม ทั้งในส่วนความพร้อมของตัวผู้ต้องขังเองและครอบครัวที่จะรองรับ นอกจากนี้ในการปล่อยผู้ต้องขังทุกกรณีต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย สำหรับผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษ หรือพักการลงโทษในช่วง 1 – 2 ปี ข้างหน้า เป็นการเตรียมความพร้อมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง แต่ที่สำคัญคือการเตรียมความพร้อมกลับสู่สังคมใหม่ ในช่วงข้าวยากหมากแพง การค้าขายฝืดเคืองการ
เตรียมผู้ต้องขังให้ทำงานในโรงงานต่างๆ หรือออกไปค้าขาย หรือรับจ้างทำงานตามสถานประกอบการดูจะยากเย็นยิ่งขึ้น เพราะมีคู่แข่งเป็นคนตกงานอีกมากมาย หนทางที่จะทำให้ผู้ต้องขังอยู่รอดได้ใน สภาวะเช่นนี้น่าจะเหมือนสมัยวิกฤตต้มยำกุ้งที่คนไทยต้องหันมายึดแนวทางการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยผู้ต้องขังพวกที่มีพื้นเพเป็นชาวเกษตร ซึ่งเป็นผู้ต้องขังส่วนใหญ่โดยเฉพาะในเรือนจำต่างจังหวัด ก็ควรฝึกการทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้กับไปอยู่กับครอบครัวในชีวิตในชนบท ส่วนผู้ต้องขังที่มีภูมิลำเนาในเมืองก็ควรที่จะฝึกการใช้ชีวิตแบพอเพียงควบคู่ไปกับงานรับจ้างต่างๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นการกลับสู่สังคมเมืองชนบท สิ่งจำเป็นที่ผู้ต้องขังจะต้องเรียนรู้ในการกลับเข้าสู่สังคมใหม่ก็คือ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในการทำมาหากินไม่ว่าจะเป็นการใช้แอพพลิเคชั่นสั่งอาหารส่งสินค้าตามสั่งการขายสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การค้นคว้าหาความรู้เพื่อพัฒนาเทคนิคและอาชีพต่างๆ รวมตลอดถึงการพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและการหาช่องทางการตลาด เพราะตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคในความหมายใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
นอกจากนี้การเรียนรู้เพื่อปรับพฤติกรรมสุขภาพและการเว้นระยะห่างทางสังคม ก็เป็นสิ่งจำเป็นอีกประการหนึ่ง ในการอยู่รอดในสังคมข้างนอกที่สุขภาวะเป็นมาตรฐานที่จำเป็นทั้งของตัวเราและของผู้อื่นเพราะโควิด19 ยังไม่จากไปจากโลกนี้ไปง่ายๆ หากแต่ผู้ต้องขังจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคโควิด19 และไวรัสตัวอื่นๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย การเตรียมความพร้อมในส่วนนี้เท่ากับเป็นการ “คืนคนมีสุขภาพดีสู่สังคม” อีกด้วย
สุดท้ายแล้วเรื่องของการใช้มาตรทางเลือกแทนโทษจำคุก เพื่อมิให้เรือนจำต้องเผชิญกับความแออัด เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเรียกร้องให้ มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมเสียที และในส่วนของเรือนจำเรื่องของสุขอนามัยการคัดกรอง การจำแนกลักษณะผู้ต้องขังและเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยเป็นรายบุคคลก็กลับมาเป็นเรื่องสำคัญของราชทัณฑ์ ที่จะต้องให้ความสำคัญและจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ดั้งนั้นสิ่งที่จะเห็นตามมาจากเรื่องนี้คือการออกแบบเรือนจำ ที่มีการแยกขังอย่างเป็นระบบ โดยมีแดนแรกรับแดนนอกผู้ต้องขังระหว่างเป็นสถานที่คัดกรองและแยกขังเพื่อการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังอย่างแท้จริง รวมตลอดถึงการมีแดนเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยที่แยกออกมาจากผู้ต้องขังส่วนอื่นๆ “การออกแบบ” ดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงการออกแบบเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด19 เท่านั้น แต่เป็นการออกแบบงานราชทัณฑ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในโลกหลังการระบาดของโรคโควิด19 ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงจะเป็นสิ่งปกติของโลกไปเสียแล้ว