ขอบข่ายและสถานภาพของการศึกษาอาชญาวิทยา (ตอนที่2)

ขอบข่ายและสถานภาพของการศึกษาอาชญาวิทยา 

 นัทธี จิตสว่าง 

3. การศึกษาอาชญาวิทยาในประเทศต่าง ๆ

สหรัฐอเมริกา

การศึกษาอาชญาวิทยาอย่างเป็นระบบและเป็นปึกแผ่นในสหรัฐ ได้เริ่มขึ้นเมื่อต้น ศตวรรษที่ 20 ทั้งนี้เนื่องมาจากความสับสนวุ่นวายของสังคมอเมริกันในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสับสนวุ่นวายของสังคมตามเมืองใหญ่ๆ อันเนื่องมาจาก ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายุวอาชญากร ปัญหาแหล่งสลัม ปัญหาการขยายเขตเมือง และปัญหาการอพยพเข้าเมืองของชาวชนบท และชาวต่างชาติ ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญ ของประเทศในขณะนั้น สภาพปัญหาดังกล่าวนี้เอง ก่อให้เกิดความจำเป็นในการศึกษาปัญหาของ สังคมอย่างจริงจัง เพื่อหาคำตอบและทางแก้ไขในปัญหาดังกล่าว ซึ่งจากจุดนี้เอง ทำให้ สังคมวิทยา ถือกำเนิดขึ้นมาในสหรัฐอเมริกา และโดยเหตุที่อาชญากรรมจัดว่าเป็นปัญหาของ สังคมที่สำคัญ ในเวลานั้น จึงทำให้การศึกษาปัญหาอาชญากรรมถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับสังคมวิทยา เมื่อการศึกษาปัญหาอาชญากรรมถือกำเนิดมาในทำนองเดียวกับการศึกษา ปัญหาสังคมโดยทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องของสังคมวิทยา จึงทำให้อาชญาวิทยาในสหรัฐมีความผูกพัน อยู่กับสังคมวิทยามาโดยตลอด จนแทบจะกล่าวได้ว่า อาชญาวิทยาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมวิทยา และการศึกษาอาชญาวิทยาได้อยู่ในภาควิชาสังคมวิทยาติดต่อกันมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี

กลุ่มนักสังคมวิทยาที่เข้ามาสนใจปัญหาอาชญากรรม ก็คือนักสังคมวิทยา สำนักชิคาโก (Chicago School) โดยเริ่มต้นที่ Robert Park ได้ออกทำการวิจัยสนามในเขตสลัม ของเมืองชิคาโก เพื่อศึกษาถึงความไม่เป็นระเบียบทางสังคมและปัญหาอาชญากรที่ตามมา ต่อจากนั้นจึงได้มีนักสังคมวิทยาอีกหลายคน ที่นำวิธีทางด้านสังคมวิทยามาวิเคราะห์ปัญหา อาชญากรรม Shaw & Mckay ได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมทางพื้นที่ของเมือง ชิคาโกกับอาชญากรรม5 Merton ศึกษาถึงความกดดันทางสังคมกับอาชญากรรม6 สืบเนื่องติดต่อ มาถึงทฤษฎีเกี่ยวกับวัฒนธรรมรองของ Sutherland Cohen7 และทฤษฎีความแตกต่างในการคบหาสมาคมของ Sutherland ซึ่งโด่งดังอยู่เป็นเวลากว่า 20 ปี นอกจากจะศึกษาปัญหาอาชญากรรม โดยทั่วไปแล้วนักอาชญาวิทยาที่เป็นนักสังคมวิทยายังใช้วิธีการด้านสังคมวิทยาวิเคราะห์ การตำรวจ และเรื่องเรือนจำอีกมากมาย8

ความสำเร็จของนักสังคมวิทยาและอีกนัยหนึ่ง นักอาชญาวิทยาของสำนักชิคาโก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ในภาควิชาสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยชิคาโก ทำให้อาชญาวิทยามีความ ผูกพันกับสังคมวิทยามาตลอด จนกระทั่งในทศวรรษที่ 1960 ที่ความสับสนวุ่นวายได้กลับคืนสู่สังคมอเมริกันอีกครั้งหนึ่ง การจลาจลต่อต้านสงครามเวียตนาม การจรราจลต่อต้านการเหยียดผิว และปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ความต้องการ ในการปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม เพื่อที่จะรับมือกับปัญหาดังกล่าว รวมทั้งความต้องการบุคลากรด้านตำรวจและราชทัณฑ์เพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการเปิดสอนวิชาการ ตำรวจ การราชทัณฑ์ และวิชาการกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนอาชญาวิทยาขึ้นในมหาวิทยาลัย หลายแห่ง

มหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เปิดสอนในสาขาอาชญาวิทยา ก็คือ University of California ที่เมืองเบริกเล่ย์ ซึ่งเปิดสอนในปี 1937 โดยในชั้นแรกได้เปิดสอนวิชาการตำรวจขึ้นก่อน9 มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนตามมาก็ได้คือ Michigan State University ซึ่งเริ่มเปิดสอนวิชาการตำรวจ ในปี 1939 แล้วจึงเปิดสอนวิชาการบริหารงานกระบวนการยุติธรรม และพัฒนามาเป็นสูตรการ สอนซึ่งรวมเอาอาชญาวิทยาผสมกับกระบวนการยุติธรรมดังเช่นปัจจุบัน Washington State University เป็นมหาวิทยาที่สาม ต่อมาก็มี Florida State University เปิดสอนวิชาการราชทัณฑ์ และมาเป็นคณะอาชญาวิทยาที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมี John Jay College ซึ่งจัดว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่บุกเบิกการสอนทางด้านนี้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนอกจากมหาวิทยาลัยเหล่านี้ แล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งที่ได้พัฒนาหลักสูตรอาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรม ขึ้นมาภายหลังแต่ได้รับความเชื่อถือโดยทั่วไปอีกหลายแห่ง เช่น University of Maryland, Sam Houston State University, State University of New York at Albany เป็นต้น สำหรับ ที่เบริกเล่ยนั้น ได้เปิดสอนติดต่อกันมาโดยตลอด จนได้รับการยกย่องว่าวิชาอาชญาวิทยาของ มหาวิทยาลัยนี้เป็นหนึ่งของประเทศและของโลก อย่างไรก็ตามในช่วงทศวรรษ 1960 ภาควิชาอาชญาวิทยาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ได้รับอิทธิพลจากพวกซ้ายใหม่ในยุคนั้น ทำให้ นักอาชญาวิทยา Morkist ได้เข้าครอบครองภาควิชาอยู่เป็นเวลานาน ผู้นำของกลุ่มนี้ อันได้แก่ Tony Platt, Schwendinger, Paul Takagi และ Barry Krisberg ได้ร่วมกันออกวารสารเผยแพร่ ความคิดของการมองปัญหาอาชญากรรมแบบ Markist ชื่อ Crime and Social Justice รวมทั้งได้มี การเข้าร่วมเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลอีกหลายเรื่อง ผลที่สุดจึงทำให้ภาควิชาอาชญาวิทยา ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ต้องถูกปิดลง โดยปิดรับนักศึกษาในปี 1975 และหยุดดำเนินกิจการใน ปีต่อมา10

สำหรับในปัจจุบันจากการสำรวจของ U.S New & World Report 2009 รายงานการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่เปิดการสอนด้านอาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรม

ในสหรัฐ ปรากฏว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์มาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยมหาวิทยาลัย นิวยอร์ดที่ อัลบานี่ โดย 10 อันดับแรก ปรากฏดังนี้

1. University of Maryland–College Park

2. University at Albany–SUNY

3. University of Cincinnati

4. University of Missouri–St. Louis

5. Pennsylvania State University– University Park

6. University of California–Irvine

7. Florida State University

8. Michigan State University

9. Rutgers, the State University of New Jersey–Newark

10. CUNY–John Jay College

ยุโรป

การศึกษาอาชญาวิทยาในยุโรปนั้น สามารถนับย้อนไปถึงการศึกษาของสำนัก ความคิดการอาชญาวิทยาดังเดิม 2 สำนักคือ Classical Criminology ซึ่งได้พัฒนาจากความคิดของ นักปฏิรูปสังคมและกฎหมายในสมัยศตวรรษที่ 18 เช่น Beccaria, Bentham และสำนัก Positivism ซึ่งได้พัฒนาขึ้นมาในภายหลัง เพื่อตอบสนองต่อความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การศึกษาอาชญาวิทยาในสมัยใหม่อย่างเป็นระบบ และเป็นปึกแผ่นนั้น ได้ฝังรากอยู่ในโรงเรียน กฎหมายมาเป็นเวลาช้านาน จนแทบจะกล่าวได้ว่าอาชญาวิทยาเป็นส่วนหนึ่งของวิชานิติศาสตร์ ทั้งนี้ผู้สอนวิชาอาชญาวิทยาส่วนใหญ่จะเป็นศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายอาญาทั้งสิ้น ปัจจุบันแม้ว่าอาญาวิทยาจะแยกเป็นสาขาวิชาเอกเทศจากวิชากฎหมาย แต่ก็ยังคงดำเนินการสอนอยู่ ในคณะนิติศาสตร์ เช่น อาจเป็นภาควิชาอาชญาวิทยาในคณะนิติศาสตร์ หรือเป็นสถาบัน อาชญาวิทยาในคณะนิติศาสตร์ เป็นต้น แต่วิธีการสอนแนวทางการวิเคราะห์ปัญหา ได้เริ่มที่จะ แยกออกมาจากนิติศาสตร์ที่ละเล็กที่ละน้อย สิ่งที่เป็นข้อที่น่าสังเกต ก็คือว่าในขณะที่หลักสูตร การศึกษาด้านกระบวนการยุติธรรมเป็นที่แพร่หลายมากในสหรัฐ แต่ในยุโรปหลักสูตรการศึกษา ด้านอาชญาวิทยากลับเป็นที่แพร่หลายมากกว่า โดยมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะให้ชื่อภาควิชาว่า ภาควิชาอาชญาวิทยามากกว่าที่จะใช้ว่า ภาควิชากระบวนการยุติธรรม

ในประเทศอังกฤษมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านอาชญาวิทยาที่มีชื่อเสียงอยู่หลาย แห่งเช่นที่ Keele University, University of Sheffiele และที่มีชื่อเสียงมากของโลก สถาบันหนึ่ง คือที่ Institute of Criminology, Cambridge University อย่างไรก็ตามสำหรับในประเทศอังกฤษ ปัจจุบันการเรียนการสอนอาชญาวิทยาส่วนใหญ่จะอยู่ในภาควิชาสังคมวิทยา ซึ่งเป็นอิทธิพล ที่ได้รับมาจาก สหรัฐอเมริกาในยุคแรก ๆ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่มีการสอนอาชญาวิทยาใน ภาควิชาสังคมวิทยา เช่น University of Essex และ University of Sheffield เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนอาชญาวิทยาและงานยุติธรรมก็ยังคงมีปรากฏอยู่ในคณะนิติศาสตร์เป็น จำนวนมากเช่นกัน เช่น สถาบันอาชญาวิทยาที่ Cambridge เป็นต้น ในประเทศเยอรมันการศึกษา อาชญาวิทยาได้พัฒนาอย่างรวดเร็วในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ในปี 1951 มีการสอนอาชญาวิทยา อยู่ในมหาวิทยาลัยเพียง 4 แห่ง แต่ในปี 1969 มีการสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ 15 แห่ง และในปัจจุบันมีการสอนอยู่กว่า 60 แห่งในจำนวนนี้ที่มีชื่อเสียงมากมีอยู่ 4 แห่ง คือ ที่สถาบัน อาชญาวิทยาของมหาวิทยาลัย Frankfurt มหาวิทยาลัย Heidelberg มหาวิทยาลัย Kiel และ มหาวิทยาลัย Tubingen

ในประเทศเดนมาร์ค สถาบันที่มีชื่อเสียงในด้านการสอนอาชญาวิทยา คือ Institute of Criminal Science ของมหาวิทยาลัย Copenhagen ซึ่งทำการศึกษาวิจัยและให้การสอน ทางด้านกฎหมายกับอาชญาวิทยา ในประเทศนอร์เวย์มี Institute of Criminology and Criminal Law ในมหาวิทยาลัย Oslo ส่วนในฝรั่งเศสจะมีการสอนในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่

ในยุโรปตะวันออกก็เช่นกัน ความเกี่ยวกันระหว่างอาชญาวิทยากับกฎหมายและ วิชาธรรมศาสตร์มีอยู่อย่างแน่นแฟ้น แม้ว่าอาชญาวิทยาในยุโรปตะวันออกจะมีแนวความคิดและ ปรัชญาที่แตกต่างไปจากประเทศในยุโรปตะวันตกก็ตาม

ในประเทศรัสเซีย ในยุคก่อนสมัย Stalin อาชญาวิทยาได้รับอิทธิพลจาก แนวความคิดของสำนักความคิดทางอาชญาวิทยาพวก Positive ซึ่งนำโดย Lombroso ของอิตาลี การศึกษาอาชญาวิทยาในยุคนี้ จึงเป็นการศึกษาถึงตัวอาชญากรภายหลังการปฏิวัติอาชญาวิทยา ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง จนกระทั่งมาถึงยุค Stalin ซึ่งเป็นยุคที่ ความเจริญเติบโตของอาชญาวิทยาในรัสเซียต้องหยุดชะงักลงไประยะหนึ่ง อาชญาวิทยากลับ ได้รับการส่งเสริมอีกครั้งหนึ่งในรัสเซีย ภายหลังจากสิ้นสุดของ Stalin ซึ่งอาชญาวิทยาได้มีการ พัฒนาขึ้นมาโดยตลอดในปี 1963 ได้มีการจัดตั้งสถาบัน All-Union Institute for the Study of Causes of crime and for the Elaboration of Measures for Its Prevention ในปีเดียวกันก็เปิดหลักสูตรการสอนอาชญาวิทยาในมหาวิทยาลัย Moscow และในปีต่อ ๆ มาจึงได้มีการสอนใน มหาวิทยาลัยอื่น ๆ อีกหลายแห่ง ทั้งนี้โดยหลักสูตรการสอนจะผูกพันอยู่กับนิติศาสตร์ เหมือนกัน ในยุโรปตะวันตก บทความหรือข้อเขียนเกี่ยวกับอาชญาวิทยาของรัสเซียจะปรากฏอยู่ในวารสาร ทางกฎหมาย มากกว่าที่จะปรากฏอยู่ในวารสารทางสังคมวิทยา11 หลักสูตรการเรียนการสอนก็จะ เน้นในเรื่องของกฎหมายอาญา ระบบกฎหมาย กฎหมายเปรียบเทียบเป็นพิเศษนอกเหนือไปจาก การพิจารณาเรื่องสาเหตุของอาชญากรรม ลักษณะเช่นนี้นอกจากจะปรากฏอยู่ในประเทศรัสเซีย แล้ว ในประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ เช่น Poland และ Hungary ก็มีการสอนอาชญาวิทยาใน คณะนิติศาสตร์ โดยผู้สอนส่วนใหญ่จะเป็นศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายอาญาแทบทั้งสิ้น12

ประเทศที่กำลังพัฒนา

อาชญาวิทยาของประเทศที่กำลังพัฒนามีลักษณะคล้ายคลึงกันอยู่หลายประการ กล่าวคือประการที่หนึ่ง การขาดทฤษฎีและแนวความคิดเป็นของตนเอง ทฤษฎีและแนวความคิด ทางอาชญาวิทยาส่วนใหญ่ที่นำมาศึกษามาจากทฤษฎีของประเทศตะวันตกแทบทั้งสิ้น ดังนั้นจึง มักจะประสบกับปัญหาเกี่ยวกับความเหมาะสม ในการที่จะนำทฤษฎีจากประเทศตะวันตกมาใช้ใน การอธิบายปรากฏการณ์ทางอาชญากรรมในประเทศเหล่านั้น

นอกจากนี้ลักษณะอีกประการหนึ่งที่มักจะพบในประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ก็คือการเรียนและการสอนอาชญาวิทยายังไม่ก้าวหน้าและเป็นปึกแผ่น เช่นในประเทศตะวันตก การศึกษาอาชญาวิทยาในฐานะที่เป็นสาขาวิชาเอกเทศ ยังมีปรากฏอยู่ไม่มากนัก แต่ส่วนใหญ่แล้ว จะมีการเรียนการสอนวิชาที่เกี่ยวกับอาชญาวิทยา กระจัดกระจายอยู่ในคณะนิติศาสตร์และ สังคมวิทยา

ลักษณะประการที่สามของอาชญาวิทยาในประเทศที่กำลังพัฒนา ก็คือการศึกษา วิชาอาชญาวิทยาส่วนใหญ่จะผูกพันกับคณะนิติศาสตร์มากกว่าคณะสังคมวิทยา หรือคณะวิชาอื่นๆ ทั้งนี้การศึกษาวิชาอาชญาวิทยาจะเริ่มพัฒนาขึ้นมาในคณะนิติศาสตร์ก่อน ในระยะหลังจึงมี การศึกษาในคณะสังคมวิทยาบ้าง ลักษณะเช่นนี้จะปรากฏชัดในประเทศที่เคยได้รับอิทธิพลจาก การปกครองหรืออิทธิพลจาระบบกฎหมายของประเทศในยุโรป ส่วนการศึกษาอาชญาวิทยาใน คณะสังคมวิทยานั้น ส่วนใหญ่มาจากอิทธิพลของระบบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา

ในทวีปอัฟริกานั้น พิจารณาจากลักษณะโดยทั่วๆ ไปแล้วการศึกษาวิชาอาชญาวิทยา ยังไม่เจริญเติบโตเท่าไรนัก ส่วนใหญ่ความเจริญทางด้านการศึกษาอาชญาวิทยาจะคงมีปรากฏอยู่ ในประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงแล้วเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น13 อย่างไรก็ตามในประเทศไนจีเรียโดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติของไนจีเรีย มีโครงการการศึกษาวิจัยทางด้านอาชญาวิทยาที่มี ชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่นักวิจัยชาวต่างชาติที่มีชื่อเสียงเข้าไปในไนจีเรียทำ วิจัยและเผยแพร่ผลงานออกมาจนเป็นที่รู้จัก โดยทั่วไปเช่น Marshall Clinard ซึ่งเป็นนักอาชญา วิทยาและนักสังคมวิทยาที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ ร่วมกับ Daniel Abbott14 เข้าไปศึกษาถึงภาวะ อาชญากรรมในกรุงไอบาดาน เมืองหลวงของไนจีเรีย โดยความร่วมมือของ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไนจีเรียดังกล่าว โดยต่อมาได้รวบรวมไว้ในหนังสือชื่อ Crime in Developing Countries : A Comparative Perspectiveนอกจากนี้ยังมี William Cam bliss นักสังคมวิทยากฎหมายของสหรัฐฯ ที่เข้าไปศึกษาทางด้านสังคมวิทยากฎหมายในกรุงไอบาดาน เช่นกันและต่อมาในปี ค.ศ. 1980 กลุ่มนักอาชญาวิทยาของประเทศในโลกที่ 3 ได้รวมตัวกัน จัดการประชุมทางอาชญาวิทยาของกลุ่มประเทศในโลกที่ 3 ขึ้น ในกรุงไอบาดาน โดยความ ร่วมมือของมหาวิทยาลัยไอบาดาน เช่นกัน ดังนั้นจึงนับว่า มหาวิทยาลัยไอบาดานมีบทบาท อย่างมากต่อการพัฒนาทางอาชญาวิทยาในทวีปอัฟริกา

สำหรับการศึกษาอาชญาวิทยาในสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น ไม่เจริญก้าวหน้า เท่าที่ควรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม และในช่วงที่เหมาเซตุงยังเรืองอำนาจอยู่ ทั้งนี้เพราะในยุคนั้นจีนมองปัญหาอาชญากรรมและปัญหาสังคมอื่น ๆ เป็นส่วนหนึ่งของ เรื่องการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของชนชั้น15 ดังนั้นการแก้ปัญหาอาชญากรรมจึงจะต้อง แก้ไขกันด้วยวิถีทางด้านการเมือง และด้วยการควบคุมทางสังคมที่เคร่งครัด ทั้งในด้านวัฒนธรรม และการลงโทษ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับตัวอาชญากรรม สาเหตุการกระทำผิด การป้องกันอาชญากรรม การเป็นเหยื่อของผู้เสียหายหรือประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม หรือปัญหาอาชญากรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาชญาวิทยาอื่นๆ เพราะจีนถือว่า ปัญหาอาชญากรรมเป็นปัญหาทางด้านการเมือง อย่างไรก็ตามเมื่อหมดยุคของเหมาเซตุง การดำเนินนโยบาย 4 ทันสมัยของจีนปัจจุบัน ทำให้จีนเริ่มประสบกับปัญหาอาชญากรรม เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อการควบคุมทางวัฒนธรรมและการควบคุมทางสังคมเริ่มผ่อนคลายลง และเชื่อว่าการศึกษาอาชญาวิทยาในจีนจะเริ่มพัฒนา ตามขึ้นมาด้วยอย่างแน่นอน

ในประเทศกำลังพัฒนาอื่นโดยเฉพาะในทวีปเอเชีย16 การศึกษาอาชญาวิทยา เริ่มมีพัฒนาการและมีความผูกพันอยู่กับสาขานิติศาสตร์มาก่อนเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจาก อิทธิพลของระบบการศึกษาของประเทศในยุโรป ที่ได้เข้าครอบงำประเทศในภูมิภาคนี้อยู่ อย่างไร ก็ตามในปัจจุบันอิทธิพลของสังคมศาสตร์แขนงอื่นๆ ตลอดจนพฤติกรรมศาสตร์ ทำให้ อาชญาวิทยาในประเทศเหล่านี้ขยับขยาย และพัฒนาออกมาจากคณะนิติศาสตร์ ตัวอย่างเช่น

ในประเทศอินโดนิเซียมีการจัดตั้งสถาบันอาชญาวิทยาขึ้นในปี ค.ศ. 1948 โดยเป็นส่วนหนึ่งของ คณะนิติศาสตร์ ใน University of Indonesia ดำเนินการศึกษาวิจัยเน้นหนักในด้านนิติเวชศาสตร์ เพื่อให้ข้อมูลแก่ศาลอาญา ต่อมาในปี ค.ศ. 1978 สถาบันนี้จึงได้แยกตัวออกเป็นอิสระ มีผู้อำนวยการขึ้นตรงต่ออธิการบดีของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ในประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ปาปัวนิวกินี(17) การศึกษาอาชญาวิทยาต่างมีพัฒนาการมาจากคณะนิติศาสตร์ ทั้งสิ้น ยกเว้นแต่ในฟิลิปปินส์ที่อาชญาวิทยาเจริญเติบโตในภาควิชาสังคมวิทยา และที่น่าสังเกต ก็คือในอินเดียที่อาชญาวิทยามีความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นอยู่กับสังคมสงเคราะห์และจิตวิทยา(18) ทั้งๆที่อาชญาวิทยาในอินเดียเริ่มต้นที่คณะนิติศาสตร์เช่นกัน

สำหรับในประเทศไทย แม้จะไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศตะวันตก มาก่อนแต่อิทธิพลของชาติตะวันตกต่อระบบการศึกษายังคงปรากฏให้เห็นได้ชัด อาชญาวิทยา ในประเทศไทย จึงมีความผูกพันอยู่กับสาขานิติศาสตร์อยู่ในระยะแรก โดยได้มีการสอน อาชญาวิทยาในสายนิติศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2476 ต่อมาจึงเริ่มมีพัฒนาการขึ้นมาในสาย ของสังคมวิทยา และได้แยกตัวเป็นสาขาวิชาอิสระที่มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแห่งแรก จนปัจจุบัน เปิดการสอนถึงระดับปริญญาเอก ในขณะที่ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ ยังไม่มีแผนก วิชาอาชญาวิทยาโดยเฉพาะ แต่ก็มีโครงการบริหารงานยุติธรรมที่เด่นชัดแยกจากคณะที่สังกัดและมีโครงการที่จะเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาเอกในปีพ.ศ. 2554 ในขณะที่มหาวิทยาลัยเกริก เริ่มเปิดสอนในระดับปริญญาโทเช่นกัน นอกจากที่ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาก็มีโครงการเปิดการสอนในระดับปริญญาเอก

การเรียนการสอนอาชญาวิทยาในประเทศไทยนั้น ปรากฏตำราอาชญาวิทยา เล่มแรกเขียนโดย ดร.เอ็ช เอ กูร์ อาจารย์ชาวฝรั่งเศสที่มาสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมา จึงมีตำราอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาของอาจารย์ไชยเจริญ สันติศิริ และอาจารย์สง่า ลีนะสมิท อาจารย์ชาย เสวิกุล และสุดท้ายคืออาจารย์ประธาน วัฒนวาณิชย์ ทั้งหมดเป็นอาจารย์ในสายทาง นิติศาสตร์ ในขณะที่ในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ส่วนใหญ่ก็จะมีการเรียนการสอนอยู่ในคณะนิติศาสตร์ เช่น มหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งมีการเรียนการสอนวิชาอาชญาวิทยาในคณะนิติศาสตร์มากว่า 40 ปี

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำราอาชญาวิทยาในระยะแรกๆ จะรวมเป็นหนึ่งเดียวกับทัณฑวิทยา แต่หลังปี 2525 เป็นต้นมา ตำราอาชญาวิทยาจะปรากฎในชื่อของอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม หรือการบริหารงานยุติธรรม และตำราทางด้านทัณฑวิทยาโดยตรงจะหายไป 2 เล่มสุดท้ายในประเทศไทย คือ หลักทัณฑวิทยา ของอาจารย์ประเสริฐ เมฆมณี (2522) และหลักทัณฑวิทยาของนัทธี จิตสว่าง (2541)

สำหรับการเรียนการสอนอาชญาวิทยาในสายสังคมวิทยาปรากฏครั้งแรกใน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งดำเนินการเรียนการสอนโดยภาควิชาสังคมวิทยา ต่อมา จึงมีในคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะสังคมสงเคราะห์ของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเรียนการสอนอาชญาวิทยาที่เป็นเอกเทศผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญา ด้านอาชญาวิทยา หรือบริหารงานยุติธรรมโดยตรง เริ่มที่มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเปิดการเรียน การสอนถึงระดับปริญญาโทและพัฒนาจนถึงปริญญาเอกในปัจจุบัน ในขณะที่ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดการเรียนการสอนในภาคพิเศษ ระดับปริญญาโทตามมาในภายหลัง ต่อมาจึงมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปัจจุบัน โรงเรียนนายร้อยตำ รวจสามพรานได้พัฒนาหลักสูตรด้านนี้ขึ้นมาโดยร่วมมือกับ Sam Houston State University

สรุป

อาชญาวิทยาเป็นสาขาวิชาที่เก่าแก่สาขาหนึ่ง ถือกำเนิดมาเป็นเวลาร่วมสาม ศตวรรษ โดยได้มีพัฒนาการติดต่อกันมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามอาชญาวิทยาก็มิได้เจริญก้าวหน้า เป็นปึกแผ่นเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับสาขาวิชาอื่นๆ ที่ได้พัฒนาขึ้นมาในระยะหลัง เช่น สังคมวิทยา หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะอาชญาวิทยาถูกครอบงำโดยสาขาวิชานิติศาสตร์ และ สังคมวิทยามาเป็นเวลานาน จนกระทั่งในปัจจุบันอาชญาวิทยาจึงได้เริ่มปลดปล่อยตัวเองออกจาก สาขาวิชาดังกล่าวและพัฒนาขึ้นมาเป็นสาขาวิชาอิสระ ดำเนินการสอนอยู่ในคณะวิชาหรือภาควิชา ภายใต้ชื่ออาชญาวิทยาหรือกระบวนการยุติธรรม

FOOTNOTES

1. Shlomo Shoham, “The Theoretical Boundaries of Criminology” The British Journal of Criminology, (January, 1963) P. 231.

2. Bobert Ferrari, “Should Criminology Be Taught in the Law School” , Journal of Criminal Law and Criminology, Vol 2, 1972 p. 286-331.

3. วิชาที่มักจะมีการสอนควบคู่กันอยู่เสมอในอดีต คือ อาชญาวิทยากับทัณฑวิทยา ซึ่งแต่เดิมนั้น ถือว่าเป็นวิชาที่มีการศึกษาควบคู่กันไปเสมอ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันแนวความคิดทางด้าน ทัณฑวิทยา (Penology) ได้เปลี่ยนแปลงไป เน้นในเรื่องของการแก้ไขผู้กระทำผิด การศึกษาด้านทัณฑวิทยา จึงหันไปเน้นทางด้านการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด หรือศึกษาถึงงานราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชากระบวนการยุติธรรม วิชาทัณฑวิทยาในปัจจุบัน จึงไม่เป็นที่นิยมกัน

4. หลักสูตรอาชญาวิทยาในสหรัฐนั้น เน้นในเรื่องการวิจัยแบบ Empirical Research มากในขณะที่ในยุโรปไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องนี้เท่าใด

5. Clifford Shaw and Henry McKay, Juvenile Delinquency and Urban Areas, (Chicago ; Chicago University Press, 1942)

6. R.K. Merton, “Social Structure and Anomie”, American Sociological Review, Vol. 3, 1938, pp. 672-682.

7. Albert Cohen, Delinquent Boys: the Culture of the Gang, (Chicago : Free Press, 1955).

8. ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางด้านสังคมวิทยา ในเรื่องการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด อาจศึกษาตัวอย่างได้จาก Norman Johnston, Leonard Davits and Marvin Wolfgang, The Sociology of Punishment and Correction, (second edition) (New York : John Wiley & Sons,Inc., 1970).

9. มหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ เปิดภาควิชาอาชญาวิทยาในปี 1950.

10. รายละเอียดเกี่ยวกับการเปิดภาควิชาอาชญาวิทยา ของมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ โปรดอ่าน Crime and Social Justice, Vol.6 (Fall – Winter 1976).

11. ผู้ที่สนใจแนวความคิดทางอาชญาวิทยาของรัสเซีย โปรดดูวารสาร Soviet Law and

Government ซึ่งเป็นวารสารภาษาอังกฤษที่นำบทความของนักเขียนรัสเซีย ทางด้านกฎหมายการปกครอง และรวมถึงอาชญาวิทยามาแปลตีพิมพ์

12. ทัศนะของอาชญาวิทยาลสังคมนิยมโปรดดู Buchhoiz ใน Socialist Criminology (New York ; Saxon House, Lexington Books, 1974).

13. William Clifford, “Problems in Criminological Research in Africa South of the Sahara” in INTERNATIONAL REVIEW OF CRIMINAL POLICY, United Nations : No. 23, 1965.

14. Marshall Clinard and Daniel Abbott, CRIME IN DEVELOPING COUNTRIES : A COMPARATIVE PERSPECTIVE (New York : Wiley, 1973).

15. George Crockett, Jr., CRIMINAL JUSTICE IN CHINA(New York :Maud Russell, 1976).

16. สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับอาชญาวิทยาในลาตินอเมริกา โปรดดู Israel Drapkin, “Criminal Research in Latin America” in INTERNATIONAL REVIEW OF CRIMINAL POLICY, United Nations, No. 23, 1965.

17. ผู้สนใจปัญหาอาชญากรรมในปาปัว นิวกินี โปรดอ่าน David Biles, CRIME IN PAPUA NEW GUINEA (ed), (Canberra : Australian Institute of Criminology, 1976).

18. ผู้สนใจบทความทางด้านอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาของอินเดีย โปรดดูวารสารที่ชื่อ THE INDIAN JOURNAL OF SOCIAL WORK

….. อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/414445

แหล่งรวบรวมความรู้ด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม