การปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพของเรือนจำในประเทศไทย: การประเมินของผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ
นัทธี จิตสว่าง
นับแต่ที่ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือข้อกำหนดกรุงเทพ ได้รับการลงมติรับรองข้อกำหนดดังกล่าว โดยที่ประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ กรมราชทัณฑ์ของไทยได้มีการเตรียมการในการพัฒนาเรือนจำให้สอดคล้องกับการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ และได้มีการพัฒนาปรับปรุงติดต่อกันเรื่อยมา ดังนั้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสถาบันฯ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการอนุวัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ จึงได้ดำเนินการตามโครงการวิจัยประเมินผลการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพของเรือนจำและทัณฑสถานหญิงในประเทศไทย เพื่อให้ทราบถึงสถานะปัจจุบัน ปัญหาอุปสรรคและแนวทางที่จะพัฒนาต่อไป ทั้งยังได้จัดทำรายงานผลการวิจัยประเมินผลดังกล่าวออกมาเป็นภาษาอังกฤษชื่อ “Women Prisoners and the Implementation of the Bangkok Rules in Thailand” โดยในรายงานเล่มนี้ได้นำเสนอความเป็นมาของโครงการ การดำเนินการวิจัยและประเมินผล ตลอดจนผลของการประเมิน
ในรายงานฉบับนี้เปิดเผยว่า การดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว เพื่อให้ได้ทัศนะที่เป็นกลางและเป็นการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้โดยตรง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยจึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ๒ ท่าน มาดำเนินการประเมินในเรื่องนี้คือ Ms.Tomris Atabay ซึ่งทำหน้าที่ออกแบบการประเมินและลงพื้นที่ในการเก็บข้อมูลการสัมภาษณ์ และเขียนรายงานการประเมิน อีกท่านหนึ่งคือ Dr.Barbara Owen ทำหน้าที่ประสานงานและจัดทำโครงการดำเนินการสำรวจจากแบบสอบถาม โดยมีบุคลากรของสถาบันฯ ให้การสนับสนุนในการเก็บข้อมูล
การดำเนินงานของคณะผู้ประเมินได้มีการศึกษาข้อกฎหมาย ทั้งในส่วนของข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ข้อกำหนดกรุงเทพ และพระราชบัญญัติราชทัณฑ์
พ.ศ. ๒๔๗๙ นอกจากนั้นยังได้ลงเก็บข้อมูลและศึกษาการปฏิบัติจริงในเรือนจำและทัณฑสถาน ๖ แห่ง คือ ทัณฑสถานหญิงกลาง ทัณฑสถานหญิงชลบุรี ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ทัณฑสถานบำบัดปทุมธานี (หญิง) เรือนจำกลางระยอง และเรือนจำกลางราชบุรี
ในรายงานผลการประเมินของผู้เชี่ยวชาญฯ ได้แบ่งออกเป็นหัวข้อต่างๆ ๑๗ หัวข้อ โดย ๓ หัวข้อแรกเป็นเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารงานราชทัณฑ์ จำนวนเรือนจำ สถิติผู้ต้องขัง และภาพรวมของผู้ต้องขังหญิง หัวข้อที่ ๔ จึงเริ่มประเมินตั้งแต่เรื่องห้องนอนและเรือนนอนของผู้ต้องขัง จนถึงหัวข้อที่ ๑๗ เรื่องผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ดังนั้นเรื่องที่มีการประเมินจริงๆ จึงมี ๑๔ หัวข้อ ตั้งแต่หัวข้อที่ ๔ ถึงหัวข้อที่ ๑๗ ปรากฏตามตารางที่ ๑
ตารางที่ ๑
ผลการประเมินการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพของเรือนจำที่ดำเนินการศึกษา
ข้อ | การดำเนินการ | ข้อเสนอแนะ | สอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพ |
๑ | Administration of Prison | - | |
๒ | Prison Population | - | |
๓ | Women Prisoners : overview | - | |
๔ | Prisoner Accommodation | - ความแออัดยัดเยียดทำให้สภาพการนอน การกินอยู่ของผู้ต้องขังไม่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดกรุงเทพ
- ควรมีระบบที่นอนมาตรฐาน |
SMR ๑๐, ๑๙, ๑๑, ๑๔ |
๕ | Prisoner Allocation | - ไม่ควรคุมขังผู้ต้องขังไกลจากบ้าน ถ้าจำเป็นจะต้องมีการย้ายไปควบคุมในเรือนจำมั่นคงสูง ก็ควรให้มีโอกาสย้ายกลับเรือนจำใกล้บ้านได้ | BR |
๖ | Prisoner Admission
Admission Registration Information and Assistance |
- ควรมีระบบการปฐมนิเทศที่มีประสิทธิภาพ - การจัดทำทะเบียนดีแล้ว - ควรให้คำแนะนำผู้ต้องขังเข้าใหม่ที่เป็นระบบและครอบคลุม |
SMR ๗, ๓๕
BR ๒ |
๗ | Nutrition | - คุณภาพและปริมาณของอาหารและน้ำดื่มมีปัญหา
- น้ำดื่มในห้องนอน น้ำซักผ้า อาบ - ราคาสินค้าในร้านสงเคราะห์สูงกว่าราคาตลาด |
SMR ๒๐ |
๘ | Hygiene and Healthcare | - ผู้ต้องขังต่างชาติไม่มีบัตรทอง
- การพิจารณาว่าควรส่งออกไปรักษานอกเรือนจำหรือไม่ ใครเป็นผู้พิจารณาเนื่องจากไม่มีแพทย์ - การรักษาความลับของสุขภาพของผู้ต้องขัง - การตรวจสอบเมื่อเจ็บป่วย ช้า ต้องรอนาน ขาดหมอ - การตรวจเอดส์ควรเกิดจากความสมัครใจ - เวลาในการอาบน้ำ น้ำน้อย สบู่ไม่มี |
SMR ๒๒, ๒๖
๑๒, ๑๓, ๑๕, ๑๖
BR ๘, ๑๑, ๑๔ |
ข้อ | การดำเนินการ | ข้อเสนอแนะ | สอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพ |
๙ | Safety and Security
Discipline Search Rehabilitation Informed and Complaint |
- ไม่ควรมีห้องมืด ห้องแยกควรใชเมื่อจำเป็นจริงๆ
- ห้ามนักโทษค้นกันเอง - ค้นเฉพาะจุดที่สงสัย ไม่ค้นไปทั่ว - ควรมีตู้ร้องเรียนแก่ผู้ต้องขัง |
SMR ๒๗ – ๓๖, ๕๕
BR ๑๗ – ๒๕ |
๑๐ | Contact with the outside world | - ควรมีโทรศัพท์ออกนอกเรือนจำได้
- การตรวจจดหมายเป็นการละเมิดสิทธิ - ควรมีหนังสือพิมพ์รายวัน ฉบับปัจจุบันให้อ่าน |
SMR ๓๗ – ๓๙
BR ๒๖ – ๒๘ |
๑๑ | Prisoner Classification | - ขาดการวางแผนการแก้ไขผู้ต้องขังเป็นรายบุคคลในระหว่างการจำคุก
Sentencing Plan - ขาดการประเมิน วิเคราะห์เพื่อแยกพฤติกรรม มุ่งแยกแดนกับแยกเพื่อฝึกงานในโรงงาน |
SMR ๖๓, ๖๙ |
๑๒ | Prison regime and prisoner rehabilitation | - บรรยากาศเคร่งเครียด ไม่ผ่อนคลาย
- ควรให้บุคคลภายนอกมาเยี่ยมกิจกรรมมากขึ้น - ควรขยายการบำบัดในรูปแบบต่างๆ เช่น T.C. - การจ่ายเงินปันผลควรรวดเร็ว |
SMR ๗๑ – ๗๖
BR ๔๒ |
๑๓ | Pregnant Women, Breastfeeding, Mother and Mother with children in prison | - มีการปฏิบัติที่ดีแล้ว
- การที่เด็กจะอยู่เกิน 1 ปี ควรให้เป็นดุลยพินิจ เพื่อประโยชน์ของเด็ก
|
BR ๗๓ – ๗๖ |
๑๔ | Preparation for Replace and Post-release support | - ควรมีโปรแกรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยส่งหรือผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษ โดยประสานกับองค์กรภายนอก | SMR ๗๙ – ๘๑
BR ๔๓ – ๔๗ |
๑๕ | Pre-trial prisoners | SMR ๘๔ – ๙๓ | |
๑๖ | Institutional Personnel and training
Staffing Staff training |
- เจ้าหน้าที่เรือนจำไม่เพียงพอ จึงควรหันมาเน้นด้านการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ | |
๑๗ | Trustee prisoners | - ควรเพิ่มเจ้าหน้าที่และนักวิชาชีพต่างๆ พร้อมลดหรือยุติการใช้ผู้ช่วยเหลือ เนื่องจากจะไปใช้อำนาจที่มิชอบกับผู้ต้องขังอื่น | SMR ๒๘ |
ในการประเมินของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศทั้ง ๑๔ ข้อ (ไม่นับ ๓ ข้อแรก) ปรากฏว่าข้อที่ไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพหรือข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติอยู่ ๗ ข้อ ที่น่าจะเป็นข้อเท็จจริงที่ยอมรับได้ มีอยู่ ๒ ข้อคือ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาและปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์และเด็กติดผู้ต้องขัง ซึ่งไม่มีข้อวิจารณ์ใดๆ ส่วนที่เหลืออีก ๓ ข้อ เป็นข้อที่ยังจะต้องมีการอภิปรายเพิ่มเติม คือ
๑. เรื่องการคุมขังผู้ต้องขังหญิงไกลบ้านหรือภูมิลำเนา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการปฏิบัติอยู่แล้ว โดยปกติผู้ต้องขังหญิงจะถูกคุมขังอยู่ ณ เรือนจำที่ผู้ต้องขังหญิงกระทำผิดในเขตอำนาจศาลนั้นๆ ยกเว้นในกรณีที่เป็นการกระทำผิดที่มีโทษสูงเกินอำนาจควบคุมของเรือนจำในต่างจังหวัด จึงต้องย้ายมาคุมขังและเพื่อฝึกอาชีพในทัณฑสถานหญิงประจำภาคซึ่งไม่ไกลจากภูมิลำเนา และเมื่อมีกำหนดโทษลดลงเนื่องจากได้รับการจองจำมาระยะหนึ่ง ก็สามารถขอย้ายกลับไปรับโทษในเรือนจำภูมิลำเนาได้ หากโทษที่เหลือไม่เกินอำนาจการควบคุมของเรือนจำนั้นๆ และในอนาคตหากมีการปรับปรุงแดนหญิงให้มีประสิทธิภาพในการควบคุมดูแลผู้ต้องขังหญิงสูงขึ้นก็อาจมีการขยายอำนาจการควบคุมสูงขึ้น ทำให้ผู้ต้องขังหญิงส่วนใหญ่จะได้รับการคุมขังใกล้ภูมิลำเนา
๒. ในเรื่องการติดต่อกับโลกภายนอก เรือนจำส่วนใหญ่จะจัดให้มีบริการโทรศัพท์ออกนอกเรือนจำกลับไปหาครอบครัวที่บ้านได้ แต่อาจมีบางเรือนจำที่ยังไม่มีระบบดังกล่าว (ทั้งชายและหญิง) ซึ่งก็น่าจะมีการปรับปรุงเสริมบริการดังกล่าวได้ แต่เรื่องการให้ผู้ต้องขังอ่านหนังสือพิมพ์รายวันและการงดการตรวจจดหมายผู้ต้องขังนั้น อาจจะมีประเด็นด้านความมั่นคงปลอดภัยของเรือนจำเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิของผู้ต้องขังต่อบุคคลภายนอก เช่น การเขียนจดหมายออกไปข่มขู่พยานหรือบุคคลภายนอก หรือติดต่อค้าขายยาเสพติด เป็นต้น เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่จะต้องถกเถียงไม่เพียงแต่เรือนจำในประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมถึงเรือนจำในประเทศอื่นๆ ด้วย
๓. ในเรื่องการขาดแคลนอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ เป็นปัญหาสำคัญของกิจการราชทัณฑ์ของไทยมาเป็นเวลานาน การขาดอัตรากำลังนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ควบคุมดูแลผู้ต้องขังเท่านั้น ยังรวมถึงนักวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ด้วย การแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อให้เรือนจำสามารถควบคุมและบริหารงานของเรือนจำได้ จึงต้องใช้ผู้ต้องขังที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานในกิจการต่างๆ ของเรือนจำ ซึ่งในเรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการประเมินมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเพราะอาจมีการใช้ตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าพนักงานไปรังแก หรือเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ต้องขังอื่นๆ ได้ และมองว่าเป็นเด็นเรื่องนี้เป็นประเด็นที่กระทบต่อข้อกำหนดกรุงเทพก็ตาม สำหรับในประเด็นเรื่องนี้ กรมราชทัณฑ์ได้ตระหนักถึงปัญหามาโดยตลอด โดยได้มีมาตรการในการควบคุมและป้องกันเรือนจำที่มีการใช้ผู้ช่วยเจ้าพนักงานให้ควบคุมดูแลอย่าให้มีกรณีการแสวงหาผลประโยชน์หรือรังแกผู้ต้องขังอื่น สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาวคือ ต้องมีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เพิ่มให้ได้สัดส่วนกับผู้ต้องขัง เพื่อไม่ต้องใช้ระบบผู้ช่วยเจ้าพนักงานนั้นเอง
ข้อพิจารณา
งานวิจัยในเรื่องนี้ เป็นการย้ำเตือนถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการพิจารณาถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพนั้น จะพิจารณาแต่เฉพาะตัวข้อกำหนดกรุงเทพไม่ได้ แต่จะต้องพิจารณาย้อนไปถึงข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง เพราะข้อกำหนดกรุงเทพเป็นส่วนเพิ่มเติมของข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติ รวมตลอดถึงข้อกำหนดโตเกียวด้วย ดังนั้นในการประเมินความสอดคล้องในการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพของเรือนจำในประเทศไทย ส่วนใหญ่ที่ผ่านมามักจะไม่ได้พิจารณาไปถึงข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติ แต่เป็นการพิจารณาจากข้อกำหนดกรุงเทพล้วนๆ ดังนั้นจึงละเลยที่จะประเมินถึงภาพใหญ่ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทั้งระบบ ในขณะที่งานวิจัยในเรื่องนี้ได้พิจารณาถึงระบบงานราชทัณฑ์และเรือนจำที่ส่งผลไปถึงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง โดยชี้ให้เห็นว่าการที่จะปรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในบางเรื่องจะต้องอาศัยการปรับในการบริหารเรือนจำทั้งเรือนจำ ด้วยเหตุนี้การพิจารณาความสอดคล้องในการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพจะพิจารณาแต่เฉพาะในแดนหญิงเท่านั้นไม่ได้ เช่นในบางกรณีเป็นการขัดกันของนโยบายในการรักษาความปลอดภัยและป้องกันยาเสพติดเข้าเรือนจำกับมาตรการในการตรวจค้นตัวผู้ต้องขังหญิง หรือมาตรการในการติดต่อกับภายนอกของผู้ต้องขังหญิง เป็นต้น
ข้อพิจารณาอีกประการหนึ่งคือ การที่จะทำให้เรือนจำมีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่สอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะต้องทำให้กฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของเรือนจำในประเทศมีความสอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพและข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติด้วย แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยการชั่งน้ำหนักระหว่างการเคารพสิทธิตามเกณฑ์มาตรฐานสากล กับข้อจำกัดในการบริหารงานของแต่ละประเทศ
ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการศึกษาวิจัยในเรือนจำคือ การเลือกตัวอย่างมาใช้ในการศึกษาหรือประเมิน ข้อสำคัญผู้วิจัยจะต้องรู้ลักษณะที่มาของประชากรในเรือนจำนั้นๆ ก่อนว่ามีที่มาอย่างไร เพราะเรือนจำแต่ละแห่งจะมีการควบคุมผู้ต้องขังที่แตกต่างกันโดยอาศัยปัจจัยหลายประการเช่น อำนาจในการควบคุม ซึ่งกำหนดอำนาจในการควบคุมผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังตั้งแต่ ๓๐ ปีขึ้นไป ไม่เกิน ๓๐ ปี หรือไม่เกิน ๑๕ ปี เป็นต้น หรือเรือนจำในภาคเหนืออาจไม่ได้คุมขังผู้ต้องขังที่กระทำผิดในภาคเหนือเท่านั้น แต่อาจคุมขังผู้ต้องขังที่ถูกย้าย ระบายมาจากเรือนจำในภาคกลาง เป็นต้น หรือในกรณีของการคุมขังผู้ต้องขังหญิง ลักษณะทางกายภาพของเรือนจำจะทำให้ผู้ต้องขังหญิงที่อยู่ในเรือนจำแต่ละประเภทได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน กล่าวคือที่ผ่านมาผู้เขียนเคยแบ่งสถานที่คุมขังผู้ต้องขังหญิงออกเป็น ๓ ประเภท คือ ๑) ทัณฑสถานหญิง ซึ่งคุมขังผู้ต้องขังหญิงทั้งหมด ๒) เรือนจำชายที่มีแดนหญิงขนาดใหญ่ และ ๓) เรือนจำชายที่มีแดนหญิงขนาดเล็กหน้าเรือนจำ แต่ปัจจุบันแบ่งออกเป็น ๕ ประเภท เพื่อวัตถุประสงค์ในการประเมินการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่สอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพ คือ ๑) ทัณฑสถานหญิงที่คุมขังทั้งผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาและผู้ต้องขังเด็ดขาด ๒) ทัณฑสถานหญิงที่คุมขังเฉพาะผู้ต้องขังเด็ดขาด ๓) เรือนจำชายที่มีแดนหญิงขนาดใหญ่ ๔) เรือนจำชายที่มีแดนหญิงขนาดกลาง และ ๕) เรือนจำชายที่มีแดนหญิงขนาดเล็ก เพราะสถานที่คุมขังแต่ละประเภทมีปัจจัยที่ทำให้การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงแตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกตัวอย่างที่จะศึกษาหรือประเมินจึงควรครอบคลุมสถานที่คุมขังทั้ง ๕ ประเภทดังกล่าวนี้ จึงจะมีตัวแทนจากเรือนจำที่มีความหลากหลาย
นอกจากการเลือกเรือนจำหรือทัณฑสถานที่จะศึกษาแล้ว ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การที่เรือนจำจะจัดผู้ต้องขังหญิงกลุ่มไหนให้ผู้วิจัยศึกษา เป็นประเด็นที่ผู้ศึกษาไม่สามารถจะควบคุมได้ การสุ่มตัวอย่างแบบ Random แทบจะทำไม่ได้เลย เพราะจะไปกระทบต่อการปฏิบัติงานของทั้งเรือนจำและผู้ต้องขังในเรือนจำ เช่น ผู้ต้องขังกำลังพบญาติอยู่แต่จะเรียกมาสัมภาษณ์เพื่อการวิจัยคงไม่ได้ ดังนั้นสัมพันธ์ภาพกับเรือนจำจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการ มิฉะนั้นนักวิจัยก็จะพบแต่ผู้ต้องขังที่มีอาชีพในการให้สัมภาษณ์
การนำไปใช้ประโยชน์
การประเมินของผู้เชี่ยวชาญนับว่าเป็นประโยชน์ในการสะท้อนภาพของการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงของไทยตามข้อกำหนดกรุงเทพเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการประเมินจากมุมมองที่เป็นกลางและผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีส่วนในการร่างข้อกำหนดกรุงเทพมาตั้งแต่เริ่ม แม้จะมีประเด็นบางประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญยังไม่เข้าใจหรือตีความตามข้อจำกัดทางวัฒนธรรมก็ตาม แต่การประเมินของผู้เชี่ยวชาญสามารถนำมาประยุกต์เป็นกรอบในการจัดทำเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ โดยใช้กรอบในการประเมินจากแบบประเมินของผู้เชี่ยวชาญไปพัฒนาต่อยอด
จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว สามารถนำมาปรับเป็นกรอบและแนวทางในการประเมินเรือนจำต้นแบบด้านการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพได้ ดังนี้
๑. การจะถือว่าเรือนจำหรือทัณฑสถานใดปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพหรือไม่ จะต้องพิจารณาในภาพรวมในการปฏิบัติงานของเรือนจำหรือทัณฑสถานด้วย จะพิจารณาแต่เพียงข้อกำหนดต่างๆ ที่ระบุในข้อกำหนดกรุงเทพเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะข้อกำหนดกรุงเทพเป็นเพียงส่วนขยายของข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติ(SMR)เป็นเพียงการขยายความและเพิ่มเติมในส่วนที่การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำไม่ได้กล่าวไว้ เช่น กรณีของการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังหรือการรับตัวผู้ต้องขัง ซึ่งมีรายละเอียดมากกว่าที่ข้อกำหนดกรุงเทพได้บัญญัติไว้
๒. การประเมินเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพจะเน้นที่ตัวระบบและกระบวนการในการทำงาน ซึ่งเป็นการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เป็นภารกิจประจำของเรือนจำ เช่น ระบบการจำแนกลักษณะ ระบบการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย มากกว่าจะไปเน้นที่กิจกรรม เช่น การฝึกวิชาชีพประเภทหนึ่งประเภทใด หรือการฝึกจิตสมาธิ ออกกำลังกาย หรือสภาพทางกายภาพ ในเรื่องความสวยงามของอาคารสถานที่ ซึ่งทั้งสองส่วนจะเกิดขึ้นเมื่อมีการจัดสรรงบประมาณและบุคลากรลงไปดำเนินการ และสามารถจัดแสดงให้บุคคลภายนอกดูได้เมื่อไปตรวจประเมิน
๓. การประเมินเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ การเน้นที่ความยั่งยืนต่อเนื่องในการปฏิบัติ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อได้มีการปลูกฝังไปในทัศนคติของผู้ปฏิบัติงาน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของเรือนจำตลอดจนผู้บริหารระดับต่างๆ ของเรือนจำ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพด้วยใจ โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน มิใช่ทำเพราะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ นอกจากนี้ยังต้องปลูกฝังให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรของเรือนจำนั้นๆ เพื่อให้การปฏิบัติมีความยั่งยืน แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บัญชาการหรือเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้โดยโครงการเรือนจำต้นแบบจะต้องเน้นที่ตัวเจ้าหน้าที่ โดยมีการศึกษาดูงาน สัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเข้ากิจกรรมกลุ่มปรับทัศนคติ เพื่อซึมซับและเรียนรู้ แทนการนั่งฟังในห้องบรรยาย
๔. การขับเคลื่อนเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ จะต้องดำเนินการคัดเลือกจากภายใน คือ กระตุ้นให้เรือนจำคิดเอง ดำเนินการเอง มากกว่าการสั่งการหรือผลักดันให้ดำเนินการจากภายนอก การที่เรือนจำคิดเอง ริเริ่มดำเนินการเองและทำด้วยใจ มิใช่เกิดจากการกระทำตามคำส่งจะเกิดความภูมิใจ และมีความยั่งยืนมากกว่าการปฏิบัติตามคำสั่ง เป็นการระเบิดจากภายใน และฝังติดเป็นวัฒนธรรมการปฏิบัติในเรือนจำนั้นๆ ไป
สรุป การปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพของเรือนจำในประเทศไทยจากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ (Ms.Tomris Atabay) เผยว่ามีการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพได้สอดคล้องหลายกรณีแต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่จะต้องมีการปรับปรุง แต่การประเมินของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว แม้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้างในเรื่องของระเบียบวิธีวิจัย แต่ก็สามารถนำมาเป็นแบบอย่างและใช้ประโยชน์ในการนำมาวางกรอบการประเมินเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพได้เป็นอย่างดีและเป็นแนวทางให้เรือนจำใช้ในการพัฒนาเรือนจำเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพต่อไป