Research In Brief
การกระทำผิดของผู้ต้องขังหญิงสูงอายุของไทย
การก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย ไม่เพียงแต่จะสะท้อนถึงประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรในกลุ่มอายุอื่นเท่านั้น แต่ยังทำให้ประชากรผู้ต้องขังที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย งานวิจัย เรื่อง “การกระทำผิดของผู้ต้องขังหญิงสูงอายุ” โดยดร.นัทธี จิตสว่างและคณะ(ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2559) จึงพยายามที่จะหาคำตอบเกี่ยวการเพิ่มขึ้นของผู้ต้องขังสูงอายุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงสาเหตุในการกระทำผิดรวมทั้งพฤติกรรมการกระทำผิดของผู้ต้องขังหญิงสูงอายุ และเพื่อศึกษาถึงแนวทางหรือมาตรการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงสูงอายุที่เหมาะสมเพื่อคืนกลับสู่สังคม โดยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณซึ่งใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ควบคู่กับการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก สำหรับกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ต้องขังหญิงสูงอายุที่ถูกจำคุกในเรือนจำและทัณฑสถานในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งคัดเลือกด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย จำนวน 307 ราย และคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างสำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการเฉพาะเจาะจง จำนวน 15 ราย สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ต้องขังหญิงสูงอายุกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 60-69 ปี โดยมีอายุสูงสุด คือ 88 ปี มีอายุขณะกระทำผิดเฉลี่ย 60.6 ปี มีสถานภาพทางสังคมไม่สูง โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือและอีกส่วนจบการศึกษาระดับประถมศึกษา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้างอีกส่วนไม่ประกอบอาชีพอะไรแต่เฝ้าบ้านให้ลูกหลาน มีรายได้ก่อนต้องโทษไม่เกิน 6,000 บาทต่อเดือน แต่มีอยู่จำนวนมากที่ไม่มีรายได้อะไรนอกเหนือจากรับเงินสวัสดิการของราชการ ผู้ต้องขังหญิงสูงอายุกลุ่มตัวอย่างต้องโทษคดีค้ายาเสพติด ร้อยละ 83.4 ที่เหลือเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์และคดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย มีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ร้อยละ 22.1 จำคุกตลอดชีวิต ร้อยละ 24.4 และต้องโทษสูงสุด คือ ประหารชีวิต ร้อยละ 5.1 ส่วนใหญ่ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก
สำหรับมูลเหตุจูงใจในการกระทำผิดเนื่องจากถูกกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจ โดยเกือบครึ่งหนึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ และมีส่วนหนึ่งที่ประสบกับสภาวะมีหนี้สิน เนื่องจากส่วนหนึ่งต้องเลี้ยงดูสามี ลูก หลาน จึงต้องหันมาค้ายาเสพติดเพื่อเป็นแหล่งรายได้ แต่มีลักษณะของการกระทำผิดโดยพลั้งพลาด คือ ขาดการเตรียมการณ์ในการกระทำผิด ใช้ทักษะความชำนาญในการประกอบอาชญากรรมน้อยที่สุด ส่วนใหญ่กระทำผิดครั้งแรกซึ่งขาดความต่อเนื่องในการประกอบอาชญากรรม มากกว่าจะเป็นผู้ที่ที่มีลักษณะของอาชญากรอาชีพอย่างแท้จริง
ในกรณีของผู้ต้องขังหญิงสูงอายุชราที่กระทำผิดในคดียาเสพติด ส่วนใหญ่จะมีญาติหรือคนในครอบครัว ได้แก่ลูกหลานที่ค้ายาเสพติดอยู่แล้ว แต่ตนเองต้องตกกระไดพลอยโจนค้าขายหรือเฝ้าของให้ลูกหลานหรือรับผิดแทนลูกหลานหรือขายอยู่บ้านในชุมชน ในกรณีผู้ต้องขังหญิงชราที่กระทำผิดในคดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากที่ตนเองหรือญาติการเป็นผู้ถูกกระทำจากสามีหรือคนรอบข้างทำร้ายรังแกตนเองหรือลูกหลานของตนจนวันหนึ่งทนไม่ไหวจึงต่อสู้และต้องมาต้องโทษนอกจากนี้ยังมีที่กระผิดเพราะความแค้นเป็นส่วนตัว ส่วนผู้ต้องขังหญิงชราที่กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์อื่นนั้น ผู้ต้องขังชราที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ก็จะมีความสัมพันธ์กับเพื่อน โดยมีการทำงานร่วมกันหรือทำงานสถานที่เดียวกัน เล่นแชร์ เล่นหวย เป็นหนี้และเป็นผู้ค้ำประกันซึ่งกันและกันและผ่อนสินค้าร่วมกันและนำไปสู่ข้อหาฉ้อโกงหรือลักทรัพย์
จากการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างประสบปัญหาในการเข้าถึงความยุติธรรม โดยต้องประสบกับปัญหาขาดความรู้ ขาดเงินในการต่อสู้คดี ขาดทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมาย และไม่ทราบวิธีการต่อสู้คดีหรือการตรวจสอบในกรณีที่จับผิดตัว กลุ่มตัวอย่างส่วนหนึ่งประสบปัญหาขณะต้องโทษในเรือนจำ ได้แก่ ปัญหาสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิต ขาดมีอิสรภาพ และปัญหาสภาพแวดล้อมภายในเรือนจำที่แออัด แต่สวนใหญ่ได้หาทางออกโดยการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาขณะต้องโทษเพื่อความสงบของจิตใจ ทั้งนี้โดยผู้ต้องขังสูงอายุส่วนใหญ่ยอมรับว่าการติดคุกนั้นลำบากขาดเสรีภาพและต้องอยู่ในวินัยของคนหมู่มาก และไม่ต้องการกลับเข้ามาในเรือนจำอีก แต่สิ่งหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของสังคมไทย คือการที่ผู้ต้องขังสูงอายุยังมีญาติมาเยี่ยมดูแลส่งเสียเงินทองให้อยู่เสมอ ทำให้บรรเทาความว้าเหว่ด้านจิตใจและลดปัญหาการขาดเครื่องอุปโภคบริโภค
ข้อเสนอแนะของการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังสูงอายุ ได้แก่ การให้เรือนจำดำเนินการดูแลสุขภาพและการสงเคราะห์ผู้ต้องขังสูงอายุเป็นกรณีพิเศษแตกต่างจากผู้ต้องขังทั่วไป โดยเฉพาะผู้ต้องขังสูงอายุที่ประสบปัญหาความยากจนและไม่มีญาติเยี่ยม การใช้หลักธรรมของศาสนาซึ่งถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในช่วงบันปรายของชีวิตในการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูให้แก่ผู้ต้องขังสูงอายุ นอกจากนี้เรือนจำควรส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวของผู้สูงอายุ ในการให้บุตรหลานมาเยี่ยมและรับดูแลหลังพ้นโทษ สำหรับผู้อายุที่ไม่มีญาติพี่น้องก็ควรมีการประสานงานกับประชาสงเคราะห์ในการดูแลผู้ต้องขังสูงอายุภายหลังพ้นโทษ นอกจากนี้ควรมีการนำมาตรการ การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring ) ในการควบคุมผู้ต้องขังสูงอายุในสถานที่อื่นแทนการ คุมขังในเรือนจำ และควรนำมาตรฐานการพักโทษกรณีพิเศษสำหรับผู้ต้องขังชรามาใช้เพื่อให้ผู้ต้องขังชราได้รับการปล่อยตัวเพื่อกลับไปอยู่ในสังคมโดยไม่เป็นอันตรายต่อสังคมต่อไป