โฉมใหม่ของสถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังในประเทศไทย
นัทธี จิตสว่าง
บทนำ
การกระทำผิดซ้ำ (Recidivism) นับเป็นเกณฑ์ที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไป ในการนำมาประเมินความสำเร็จในงานการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดในเรือนจำ สถานควบคุมตัวหรือผ่านมาตรการปฏิบัติในชุมชนไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนหรือผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการประเมินว่าผู้ผ่านการปฏิบัติในมาตรการดังกล่าวสามารถกลับสู่สังคมปรับตัวเข้ากับกฎเกณฑ์ และเงื่อนไขของสังคมได้โดยไม่กลับกระทำผิดขึ้นอีก แม้ว่าการนำเกณฑ์เกี่ยวกับการไม่ไปกระทำผิดขึ้นอีกจะมีข้อจำกัดเพราะอาจมีตัวแปรอื่นๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้เข้ามาแทรกซ้อนและมีผลทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ แต่หากมาตรการในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดดังกล่าวได้เสริมสร้างภูมิต้านทานที่เข้มแข็งให้กับผู้กระทำผิดในการที่จะทน ต่อสิ่งเสียดทานของสิ่งแวดล้อมก็จะไม่กลับไปกระทำผิดขึ้นอีก
แม้การกระทำผิดซ้ำจะได้รับการยอมรับกันทั่วไปในการใช้เกณฑ์ในการประเมินความสำเร็จในมาตรการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด แต่ยังมีความไม่ลงรอยเกี่ยวกับเกณฑ์ในการประเมินการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันในระบบยุติธรรมของประเทศต่างๆ หรือแม้แต่ในโครงการประเมินหรือวิจัยภายในประเทศเดียวกัน ดังนั้นในการเปรียบเทียบอัตราการกระทำผิดซ้ำของประเทศต่างๆ จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงเกณฑ์ในการจัดเก็บสถิติและตัวเลขเกี่ยวกับการกระทำผิดซ้ำตลอดจนวิธีการประเมินของแต่ละที่ด้วย
สถิติการกระทำผิดซ้ำที่ผ่านมา
สำหรับในประเทศไทย อัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกมาจากเรือนจำ ตามที่ปรากฏในรายงานสถิติของกรมราชทัณฑ์ ในปี พ.ศ.2559 มีอยู่ 62,117 ราย จากนักโทษเด็ดขาดทั้งหมด 261,687 ราย คิดเป็นร้อยละ 23.74 ซึ่งหมายความว่าในจำนวนนักโทษเด็ดขาดทั้งหมดที่ถูกคุมขังอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ในปี พ.ศ.2559 จะมีนักโทษเด็ดขาดที่เป็นผู้กระทำผิดซ้ำอยู่ร้อยละ 23 โดยแยกเป็นนักโทษเด็ดขาดที่กระทำผิดซ้ำ ครั้งที่ 2 จำนวน 48,139 ราย ครั้งที่ 3 จำนวน 9,640 ราย ครั้งที่ 4 จำนวน 2,640 ราย ครั้งที่ 5 ขึ้นไป จำนวน 1,968 รายรายละเอียดปรากฏตามตารางสถิตินักโทษเด็ดขาด แยกจำนวนครั้งที่ต้องโทษ ในตารางที่1 (1)
-2-
ตารางที่ 1
สถิตินักโทษเด็ดขาด แยกตามจำนวนครั้งที่ต้องโทษ
สำรวจ ณ วันที่ 1 เมษายน 2559
จำนวนครั้งที่ต้องโทษ |
ชาย |
หญิง |
รวม |
ร้อยละ |
ต้องโทษครั้งที่ 1 |
168,916 |
30,654 |
199,570 |
76.26 |
ต้องโทษครั้งที่ 2 |
43,135 |
5,004 |
48,139 |
18.40 |
ต้องโทษครั้งที่ 3 |
8,661 |
979 |
9,640 |
3.68 |
ต้องโทษครั้งที่ 4 |
2,295 |
345 |
2,640 |
1.01 |
ต้องโทษครั้งที่ 5 ครั้งขึ้นไป |
1,483 |
215 |
1,698 |
0.65 |
รวมต้องโทษ ครั้งที่ 2 – 5 ขึ้นไป |
55,574 |
6,543 |
62,117 |
23.74 |
รวมทั้งสิ้น |
224,490 |
37,197 |
261,687 |
100 |
ที่มา กองแผนงาน กรามราชทัณฑ์
เมื่อนำอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังของไทยที่ผ่านมาไปเปรียบเทียบกับอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศตะวันตก จะพบว่าอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังไทยต่ำกว่าอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังของประเทศต่างๆ มาก เช่นฝรั่งเศส ร้อยละ 59 แคนดา ร้อยละ 41 เยอรมัน ร้อยละ 48 และเนเธอร์แลนด์ร้อยละ 48 เป็นต้น (2)
แต่การเปรียบเทียบอัตราการกระทำผิดซ้ำระหว่างประเทศต่างๆ นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งเพราะการจัดเก็บสถิติเกี่ยวกับการกระทำผิดซ้ำของแต่ละประเทศ มีความแตกต่างกัน หรือแม้แต่ในประเทศเดียวกันก็ยังมีการจัดเก็บสถิติการกระทำผิดซ้ำที่แตกต่างกัน
-3-
โดยขึ้นอยู่กับวิธีประเมินอัตราการกระทำผิดซ้ำแหล่งข้อมูลที่รายงานสถิติกระทำผิดซ้ำ ระยะเวลาในการติดตามพฤติกรรม ประชากรของกลุ่มที่จะศึกษาและความแม่นยำของสถิติที่จัดเก็บเป็นสำคัญ
ในส่วนประเทศไทย อัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังไทยคำนวณจากจำนวนนักโทษเด็ดขาดทั้งหมดที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในขณะใดขณะหนึ่งว่ามีนักโทษเด็ดขาดคนใดเคยกระทำผิดซ้ำมาก่อน เป็นครั้งที่ 2 หรือ 3 หรือ 4 หรือมากกว่าจำนวนเท่าใดคิดเป็นร้อยละเท่าไร จากนักโทษเด็ดขาดทั้งหมด อีกนัยหนึ่งการคำนวณจำนวนผู้กระทำผิดซ้ำโดยวิธีนี้ เป็นการคำนวณจากฐานของนักโทษเด็ดขาดทั้งหมดที่ถูกจองจำอยู่ ณ ปัจจุบัน มีใช่คำนวณจากจำนวนนักโทษเด็ดขาดพี่พ้นโทษและถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำในรอบระยะเวลาหนึ่งๆ เช่น 1 ปี 3 ปี ดังนั้นไม่ว่านักโทษเด็ดขาด จะพ้นโทษออกไปนานเท่าใด หากกลับเข้ามาต้องโทษจำคุกอีก ในคดีใดก็ตามถ้าเป็นการต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป ถือเป็นผู้กระทำผิดซ้ำทุกกรณี
ในการพิจารณานักโทษเด็ดขาดคนใด เป็นผู้กระทำผิดซ้ำหรือไม่ จึงต้องอาศัยทะเบียนประวัติของเรือนจำและหมายจำคุก ซึ่งระบุการฟ้องเพิ่มโทษตามมาตรา 92 และ 93 แห่งประมวลกฎหมายอาญารวมตลอดถึงข้อมูลจากตัวผู้ต้องขังเอง
การคำนวณอัตราการกระทำผิดซ้ำของไทยที่ผ่านมาจึงแตกต่างไปจากการคำนวณอัตราการกระทำผิดซ้ำของต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการคำนวณการกระทำผิดซ้ำจากจำนวนนักโทษเด็ดขาดที่พ้นโทษออกจากเรือนจำหรือสถานควบคุมอื่นๆ ในปีหนึ่ง ปีใด แล้วติดตามดูว่าใน 1ปี หรือ 3ปี หรือรอบระยะเวลาอื่นๆ ต่อมาได้กระทำผิดซ้ำโดยถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในความผิดซึ่งได้กระทำขึ้นใหม่หรือถูกศาลพิพากษาจำคุกหรือถูกส่งเข้าเรือนจำใหม่แล้วแต่กรณี การคำนวณวิธีนี้เป็นการคำนวณผู้กระทำผิดซ้ำที่ใช้กันแพร่หลายในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีระบบการติดตาม และระบุตัวบุคคลที่มีประสิทธิภาพ เช่น กรณีสำนักงานสถิติงานยุติธรรมของสหรัฐ ไว้ทำการศึกษาพบว่า ในจำนวนนักโทษที่พ้นออกจากเรือนจำ ในปี พ.ศ.2005 จำนวน 404,638 ราย ใน 30 มลรัฐ ในรอบ 3 ปี ได้กลับมากระทำผิดอีกและถูจับกุมอีกครั้ง ถึงร้อยละ 67.8 และในรอบ 5ปี ร้อยละ 76.6 โดยเป็นการถูกจับเฉพาะในปีแรกร้อยละ 56.7 นอกจากนี้หากเป็นประเภทคดีจะเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์ ร้อยละ 82.1 และคดีเกี่ยวกับยาเสพติดกระทำผิดซ้ำร้อยละ 76.9 (3)
-4-
นอกจากนี้ การจัดเก็บสถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังไทยยังไม่มีเงื่อนไขด้านระยะเวลา (แม้ว่าตามมาตร92 และ มาตร93 แห่งประมวลกฎหมายอาญาจะกำหนดระยะเวลาไว้ก็ตาม) เนื่องจากมีการจัดเก็บสถิติจากแหล่งอื่นอีกด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะเคยต้องโทษจำคุกมานานเท่าใด เมื่อไรหากเคยต้องโทษจำคุกมาแล้วและติดคุกจริงๆ ก็นับเป็นผู้กระทำผิดซ้ำทุกกรณีนอกจากนี้การไม่นับระยะเวลาดังกล่าวทำให้ไม่มีประเด็นว่าจะนับเวลา 1 ปีหลังพ้นโทษออกไปเมื่อใด เช่นจะเริ่มนับระยะเวลาจากการปล่อยพักการลงโทษ หรือลดวันต้องโทษ หรือหลังครบเงื่อนไขการพักการลงโทษ หรือลดวันต้องโทษแล้ว นอกจากนี้ยังไม่มีประเด็นว่าผู้ต้องขังที่เคยถูกคุมขังในสถานพินิจนั้นจะนับรวมด้วยหรือไม่ เพราะนับเฉพาะผู้เคยต้องโทษจำคุกเท่านั้น
อย่างไรก็ตามการวัดเก็บสถิติการกระทำผิดของผู้ต้องขังไทย ที่ผ่านมาโดยจัดเก็บจากจำนวนนักโทษเด็ดขาดทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถอธิบายได้ว่าในแต่ละรุ่นหรือแต่ละปีที่ปล่อยออกไปมีการกระทำผิดซ้ำเท่าใด และรวมถึงไม่สามารถอธิบายได้ในแต่ละเมืองแต่ละพื้นที่หรือแต่ละโครงการหรือกิจกรรมว่ามีการกระทำผิดซ้ำเท่าใด เช่นนักโทษเด็ดขาดที่ผ่านการอบรมในโปรแกรมผู้กระทำผิดทางเพศ เมื่อพ้นโทษออกไปแล้วได้กระทำผิดอีกหรือไม่และภายในระยะเวลาเท่าใดซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้ จะสามารถสะท้อนถึงประสิทธิและประสิทธิผลของความสำเร็จของโปรแกรมได้ อย่างไรก็ตามก็ยังมีวิธีการติดตามเพื่อดูการกระทำผิดซ้ำของผู้ปล่อยตัวพ้นโทษเช่นกัน เช่นในกรณีการปล่อยตัวอภัยโทษในวาระโอกาสบางโอกาสว่ากลับมากระทำผิดซ้ำเท่าใดซึ่งเป็นการจัดเก็บสถิติการกระทำผิดซ้ำในกลุ่มเล็กๆ บางโอกาสเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีข้อแตกต่างในเรื่องแหล่งที่มาของพฤติกรรมที่บ่งบอกว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งในต่างประเทศส่วนใหญ่จะคำนวณอัตราการกระทำผิดซ้ำ จากข้อมูลการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งอาจไม่ได้เป็นผู้ที่ศาลพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิด ในขณะที่การคำนวณอัตราการ กระทำผิดซ้ำของไทยจะยึดจากการที่ศาลตัดสินเป็นคดีถึงที่สุดให้ต้องรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำ ดังนั้น หากศาลตัดสินให้จำคุกผู้กระทำผิดแต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา ก็ไม่นับเป็นผู้กระทำผิดซ้ำ
ข้อพิจารณาอีกข้อคือการตรวจสอบข้อมูลการกระทำผิดซ้ำของไทย ที่ผ่านมาใช้วิธีตรวจสอบจากนักโทษเด็ดขาดทั้งหมดที่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนหรือไม่ เป็นการเก็บข้อมูลย้อนหลัง คือการตรวจสอบจากนักโทษเด็ดขาดทั้งหมด ว่าคนใดเคยมีประวัติการกระทำผิดมาก่อน ซึ่งวิธีการตรวจสอบจะดูจากทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง ว่ามีการฟ้องเพิ่มโทษในการกระทำความผิดซ้ำ ตามมาตรา 92 หรือ 93
-5-
แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่แต่การวัดสถิติการกระทำผิดซ้ำของต่างประเทศ เป็นการติดตามไปในอนาคต
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บสถิติผู้กระทำผิดซ้ำในแบบใดต่างก็มีจุดอ่อนและจุดแข็งด้วยกันทั้งสิ้นในส่วนวิธีการจัดเก็บสถิติการกระทำผิดซ้ำของไทยมีจุดแข็ง คือ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะไม่ต้องดำเนินการติดตามผู้พ้นโทษซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานนับปี และต้องมีการจัดเก็บ ดำเนินการในลักษณะงานวิจัย โดยใช้ทีมงานในการศึกษาและติดตามหลายราย ดังนั้นในการดำเนินการจัดเก็บสถิติผู้กระทำผิดซ้ำในต่างประเทศจึงไม่ได้เป็นการเก็บจากผู้ต้องขังที่พ้นโทษทุกคน แต่จะใช้วิธีสุ่มตัวอย่าง เช่น สุ่มจากผู้พ้นโทษในบางรัฐ หรือบางเมือง หรือสุ่มจากผู้พ้นโทษที่ผ่านโปรแกรมอบรม หรือสำรวจจากผู้ต้องขังที่พ้นโทษทั้งหมด แต่เป็นการสุ่มศึกษา ปีเว้นปี หรือ 3 ปีเป็นต้นไป ในขณะที่การจัดเก็บสถิติของราชทัณฑ์ไทย เป็นการจัดเก็บจากสถิติที่เรือนจำต่างๆ ทุกเรือนจะจัดส่งเข้าส่วนกลางเพื่อรวบรวมนำเสนอภาพรวมและเป็นการจัดเก็บอย่างต่อเนื่องทุกปี ดังนั้นการจัดสถิติการกระทำผิดซ้ำของไทยจึงทำให้ได้ภาพใหญ่ของประเทศทุกปีไม่ใช่เป็นการจัดเก็บเป็นบางส่วน บางโปรแกรม หรือบางรัฐ บางเมือง อีกนับหนึ่งสถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังไทย เป็นการตอบคำถามที่ว่า “ในจำนวนนักโทษเด็ดขาดที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในปัจจุบัน มีผู้กระทำผิดซ้ำอยู่เท่าใด” ในขณะที่การจัดเก็บการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังต่างประเทศจะตอบคำถามว่า “ในจำวนนักโทษเด็ดขาดที่ปล่อยตัวไปจากเรือนจำรอบ 1 ปี หรือ 3 ปี หรือ อื่นๆ กลับไปกระทำผิดซ้ำอีกเท่าใด” ซึ่งก็ถือว่าเป็นจุดอ่อนของการจัดเก็บสถิติการกระทำผิดซ้ำของไทยที่ไม่สามารถตอบได้ว่า นักโทษเด็ดขาดที่พ้นโทษออกมาในแต่ละรุ่น แต่ละปี แต่ละโครงการกลับไปกระทำผิดซึ่งเท่าไรและภายในระยะเวลาเท่าใด
โฉมใหม่ของสถิติการกระทำผิดซ้ำในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้เริ่มปรับการจัดสถิติการกระทำผิดซ้ำใหม่ตามแบบสากล โดยคำนวณจากผู้ที่พ้นโทษในแต่ละปีว่ากลับเข้าใหม่เท่าไร เริ่มตั้งแต่ผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยตัวในปี พ.ศ.2558 โดยตรวจเช็คจากหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ว่าภายในรอบ 1 ปี 2 ปี และ 3 ปี มีผู้ต้องขังที่ปล่อยตัวออกไป เพราะพ้นโทษไม่ว่ากรณีใดกลับเข้ามาในเรือนจำอีกจำนวนเท่าใด ซึ่งผลจากการจัดเก็บอัตราการกระทำผิดซ้ำของกรมราชทัณฑ์ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมานับถึง 25 เมษายน 2561 ปรากฏตามตารางที่ 1 ดังนี้ (4)
-6-
ตารางที่ 1
ปีที่ 1 | ปีที่ 2 | ปีที่ 3 | |
พุทธศักราช 2556 |
15.02 % |
25.16 % |
32.92 % |
พุทธศักราช 2557 |
13.82 % |
23.55 % |
31.69 % |
พุทธศักราช 2558 |
14.20 % |
25.06 % |
- |
กองแผนงาน กรมราชทัณฑ์ ,2561
การจัดเก็บสถิติอัตราการกระทำผิดซ้ำดังกล่าวมีข้อพิจารณา ดังนี้
- สถิติการกระทำผิดซ้ำดังกล่าว คำนวณจากผู้ต้องขังที่มีการปล่อยตัวออกจากเรือนจำที่มี
เลขบัตรประชาชน 13 หลัก ดังนั้นผู้ต้องขังบางส่วนที่ไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ที่ได้รับการปล่อยตัวออกไปก็จะตกจากการสำรวจดังกล่าวนี้
- สถิติการกระทำผิดซ้ำดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า การจัดลงสถิติดังกล่าวไม่มี
ข้อผิดพลาดทางเทคนิคโดยเฉพาะเกี่ยวกับการลงรหัส หรือการบันทึกข้อมูลเลข 13 หลักซึ่งต้องมีผู้บันทึก อาจเป็นเข้าหน้าที่หรือจ้างบุคคลภายนอกดำเนินการจนอาจเกิดปัญหาผิดพลาดทางเทคนิค เช่น ผู้ต้องขัง 100 คน มีเลขประชาชน 13 หลัก เลขเดียวกัน หรือ ผู้ต้องขังคนเดียวกันมีเลขประจำตัว 13 หลัก 100 เลข เป็นต้น
- การบันทึกการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังจะบันทึกในกรณี ผู้ต้องขังผู้นั้นเป็นผู้ต้องขังคดี
เด็ดขาดและผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาและผู้ต้องขังฝากขัง ดังนั้นพวกที่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนแล้วกลับมาต้องโทษอีกแต่คดียังไม่เด็ดขาดในปีที่ถูกจับหรือถูกนำมาฝากขัง ไม่ว่าจะผิดจริงหรือไม่ก็จะถูกบันทึกเป็นผู้กระทำผิดซ้ำ
-7-
ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นหากนำไปเปรียบเทียบกับอัตราการกระทำผิดของประเทศต่างๆ ก็จะพบว่าอัตราการกระทำผิดซ้ำของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่นๆ หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศตะวันตกดังปรากฏตามตารางที่ 2 (5)
ตารางที่ 2
อัตราการกระทำผิดซึ่งของประเทศต่างๆ
ประเทศ |
นับจากปี |
ช่วงเวลา |
อัตรา |
เยอรมัน |
2004 |
3 ปี |
48 % |
ไอซ์แลนด์ |
2013 |
3 ปี |
51 % |
สหรัฐ |
2005 |
3 ปี |
45 % |
นิวซีแลนด์ |
2003 |
3 ปี |
44 % |
ไทย |
2015 |
3 ปี |
32 % |
ที่มา Recidivism Center ,2017
-8-
อย่างไรก็ตามในการเปรียบเทียบอัตราการกระทำผิดซ้ำ ของประเทศต่างๆ เพื่อนำมาพิจารณาถึงประสิทธิภาพและความสำเร็จในการแก้ไขผู้ต้องขังนั้น จะต้องมีการพิจารณาถึงข้อจำกัดที่สำคัญบางประการ กล่าวคือ
ประการแรก ความแตกต่างของสถิติอัตราการกระทำผิดซ้ำดังกล่าว เป็นผลมาจากความแตกต่างในวิธีจัดเก็บข้อมูลหรือไม่ เพราะแต่ละประเทศมีวิธีจัดเก็บข้อมูลที่แตกต่างกัน เช่นบางประเทศจัดเก็บจากการกระทำผิดซ้ำจากสถิติการจับกุมบางประเทศ นับจากวันที่กลับเข้ามาในเรือนจำใหม่แม้จะเป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา แต่บางประเทศนับจากวันที่เป็นผู้ต้องขังคดีเด็ดขาดคือ ศาลตัดสินว่าเป็นผู้กระทำผิดจริงและถูกตัดสินลงโทษจำคุก ดังนั้นในเรื่องนี้นับจนถึงปัจจุบันแต่ละประเทศยังมีการจัดทำสถิติเกี่ยวกับการกระทำผิดซ้ำที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีกรณีความแน่นอนถูกต้องของระบบในการลงข้อมูลของแต่ละประเทศก็นับเป็นประเด็นสำคัญที่นำมาสู่ความแตกต่างๆ
ประการที่สอง การที่ประเทศใดมีอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังในเรือนจำสูงกว่าประเทศอื่น ขึ้นอยู่กับการคัดกรองผู้ต้องขังเข้าเรือนจำด้วย หากประเทศใดมีระบบการคัดกรองที่ดี เรือนจำก็จะมีแต่ผู้ต้องขังที่มีความเป็นอาชญากรสูงและยากต่อการแก้ไข ทำให้อัตราการกระทำผิดซ้ำสูงตามไปด้วย แต่หากประเทศใดมีระบบการคัดกรองที่ไม่มีประสิทธิภาพพอ เรือนจำก็จะเป็นที่คุมขังผู้กระทำผิดโดยพลั้งพลาดที่ไม่มีความเป็นอาชญากรเข้าไปอยู่ปะปนจำนวนมาก ก็จะให้ฐานในการคำนวณสถิติการกระทำผิดซ้ำของคนที่ปล่อยตัวออกไปกลับมากระทำผิดซ้ำต่ำลงไปด้วย ในทำนองเดียวกับการเปรียบเทียบสถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องาขังที่ปล่อยตัวจากการพักการลงโทษก็ย่อมจะมีสถิติ การกระทำผิดซึ่งที่ต่ำกว่าสถิติการกระทำผิดของผู้ต้องขังที่ปล่อยตามป้าย เพราะผู้ต้องขังที่ปล่อยจากการพักการลงโทษ ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วในระดับหนึ่งและยังมีระบบในการติดตามดูแลช่วยเหลือ นอกจากนี้แล้วประเภทคดีก็มีส่วนสัมพันธ์กับการกระทำผิดซ้ำ เช่นกัน กล่าวคือในเกือบทุกประเทศผู้ต้องขังคดียาเสพติดจะกระทำผิดซ้ำมากกว่าในคดีอื่นๆ ทั่วไป ดังนั้นถ้าประเทศใดมีผู้ต้องขัวส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติดก็จะมีแนวโน้มที่จะมีอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังสูงกว่าประเทศที่ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นคดีทั่วไป
ประการที่สาม เราเชื่อกันว่าถ้าสร้างภูมิต้านทานที่ดีให้ผู้ต้องขังแล้วเมื่อผู้ต้องขังกลับสู่สังคมแล้วจะไม่กระทำผิดซ้ำ แต่สังคมที่ผู้ต้องขังกลับออกไปนั้น ยังมีตัวแปรอีกหลายตัวที่ควบคุมไม่ได้และมีความแตกต่างกันบางคนกลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีครอบครัวที่พร้อม ในขณะที่หลายคนกลับสู่สังคมเดิมที่เต็มไปด้วยปัจจัยที่นำไปสู่การกระทำผิด เช่น เป็นแหล่งแพร่ระบาดของยาเสพติด หรือ สภาพครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ หรือมีภาระการว่างงานสูงจนทำให้ต้องไปสู่การกระทำผิดซ้ำอีก ดังนั้นสถานการณ์สภาพแวดล้อมของสังคมในประเทศต่างๆ ซึ่งแตกต่างกันจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งในขณะเดียวกัน ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าการกระทำผิดซ้ำเป็นผลมาจากที่การดำเนินภาย
-9-
เรือนจำเสียทั้งหมด อย่างไรก็ตามนับจนถึงปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า สถิติการกระทำผิดซ้ำ นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญใช้ในการประเมิน ผลสำเร็จในการในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังของเรือนจำในระดับหนึ่ง
สรุป
การกระทำผิดซ้ำนับเป็นเครื่องมือที่นิยมให้ในการประเมินประสิทธิภาพของระบบเรือนจำในประเทศต่างๆ หรือในเรือนจำ แห่งหนึ่งแห่งใดได้ในระดับหนึ่งแต่การนำสถิติมาใช้นั้นยังมีข้อจัดอยู่หลายประการ เมื่อนำสถิติมาเปรียบเทียบกันเพราะมีปัจจัยหลายประการเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นวิธีการจัดเก็บระบบทางเลือกในการกรองผู้กระทำผิดออกจากระบบเรือนจำ ตลอดจนสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของสังคมภายนอก ดังนั้นจะนำสถิติการกระทำผิดซ้ำมาใช้ในการประเมินหรือเปรียบเทียบ จึงต้องคำนึงถึงความแตกต่างของปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว
อ้างอิง
1. สถิติผู้ต้องขังราชทัณฑ์ สืบค้นจาก http : // www.correct.go.th /starthomepage
2. Seema Fazel and Achim Wolf , A Systematic Review of Criminal Recidivism Rates Worldwide : สืบค้นจาก https:// www.nebi.nlm.nih gov/pme /articles/ pmc 4472929
3. Durose, Matthew R., Alexia D.Cooper, and Howard N. Snyder, Recidivism of Prisoners Released in 30 states in 2005 : patterns from 2005 to 2010 (pdf,31 pages). Bureau of Justice statistics Special Report, April 2014, NCJ 24405
4. กองแผนงานกรมราชทัณฑ์ 2561
5. Recidivism Center ,2017 สืบค้นจากhttps: www.recidivisn.com/rates/ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561